สานพลังเพื่อสังคม

การพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมศักยภาพชุมชนและสังคม

สานพลังเพื่อสังคม

การพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมศักยภาพชุมชนและสังคม

ในปี พ.ศ. 2528 เมื่อ ปตท. เริ่มดำเนินงานโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจากการต่อยอดสร้างมูลค่าจากก๊าซธรรมชาติ สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งตั้งอยู่เคียงคู่กัน คือหนึ่งในเจตนารมณ์ของ ปตท. ที่มุ่งหมายการรวบรวมความรู้และเป็นแหล่งผลิต และวิจัยสมุนไพรไทยสำหรับสถาบันวิชาการ รวมทั้งเป็นสถานที่เรียนรู้ และพักผ่อนสำหรับชุมชนโดยรอบได้ใช้ประโยชน์ สร้างคุณภาพชีวิต และต่อมาเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดระยองส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนปัจจุบัน



จากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการต่างๆ ปตท. พบว่า ทรัพยากรธรรมชาติคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาและ พึ่งพาตนเอง ขณะเดียวกัน คนและชุมชนเป็นรากฐานสำคัญของการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ระหว่างปี 2550-2554 ปตท. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนิน “โครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง” โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหัวใจ ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา

ภายใต้สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่สังคมไทยเผชิญในขณะนั้น นัยสำคัญของการดำเนินโครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง คือการพัฒนาคนให้มีความรู้ มีเหตุผล มีความ สามารถในการคิดวิเคราะห์ และแก้ไขปัญหา โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนฐานความต้องการและการจัดการ ทรัพยากรในท้องถิ่นของชุมชน นำไปสู่การพัฒนาเครือข่าย และศักยภาพของชุมชนที่มีความเข้มแข็ง รวม 87 ตำบล และขยายผลสื่อสารแนวคิดหลักให้กับประชาชนทั่วประเทศให้เกิด ความตระหนักในการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

ณ ปัจจุบัน ปตท. มุ่งเน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนตามวิถีพอเพียง ทั้งการสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพ การพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำรูปแบบการดำเนินงานแบบธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise มาใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งตามบริบทของชุมชนให้สามารถสร้างการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


พลังงานสะอาดเพื่อชุมชน

ปตท. ได้นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญองค์กรด้านวิศวกรรมและพลังงาน รวมทั้งประสบการณ์และองค์ความรู้จากการดำเนินโครงการด้านสังคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะใน โครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง ซึ่งกำหนดให้การบริหารจัดการพลังงานของชุมชนเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ เพื่อส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้และลดรายจ่ายด้านพลังงาน ด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในกระบวนการต่างๆ ปัจจุบัน ปตท. ได้ดำเนินโครงการที่ใช้พลังงานสะอาดในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้


ระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร
เพื่อแก้ไขปัญหากลิ่นรบกวนจากฟาร์มสุกรและนำของเสียจากฟาร์มสุกรผลิตเป็นก๊าซชีวภาพใช้ภายในชุมชนทดแทนการก๊าซหุงต้ม และถ่านไม้ในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังต่อยอดด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่ชุมชน

ต้นแบบการดำเนินงานโครงการระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร ที่มีความโดดเด่น ตั้งอยู่ที่ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มีจุดเด่นจากกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนใน การวิเคราะห์ศักยภาพด้านพลังงานทดแทน ออกแบบและพัฒนาระบบฯ ตลอดจนมีการจัดตั้งคณะทำงานของชุมชน ลดความขัดแย้งจากปัญหากลิ่นจากการปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มสุกร ซึ่งปัจจุบันโมเดลท่ามะนาว ได้ถูกขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ เกิดเป็นชุมชนต้นแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมในระบบการจัดการพลังงานท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ


“จากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการต่างๆ ปตท. พบว่า ทรัพยากรธรรมชาติคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาและพึ่งพาตนเอง ขณะเดียวกัน คนและชุมชนเป็นรากฐานสำคัญของการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”


ระบบส่งน้ำโดยเครื่องตะบันน้ำ (Hydraulic Ram Pump)
เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคของชุมชนในพื้นที่สูง เริ่มครั้งแรกในปี 2556 ที่หมู่บ้านขนุนคลี่ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นชุมชนในพื้นที่แนวท่อส่ง ก๊าซธรรมชาติ ตะวันตก (ไทย-เมียนมาร์) ปตท. ได้ร่วมกับชุมชนทำการสำรวจสภาพภูมิประเทศ ศึกษาออกแบบ และพัฒนาระบบส่งน้ำโดยเครื่องตะบันน้ำ อาศัยพลังงานจากการไหลของ น้ำที่มีอัตราความเร็วของน้ำไหลสูง แต่ความดันต่ำ สามารถนำน้ำขึ้นไปยังพื้นที่สูง ทำให้ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงหรือไฟฟ้าในการทำงาน ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในชุมชน


ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งลอยน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำ (Solar Floating PV)
เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำสำหรับการอุปโภคและเกษตรกรรมให้แก่ชุมชน ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูก โดย มูลนิธิชัยพัฒนา ภาคีเครือข่าย และ ปตท. ร่วมดำเนินการวิจัยการใช้เซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งลอยน้ำ ณ สระเก็บน้ำพระรามเก้า ตำบลคลองหลวง อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และพัฒนาโมเดลการ ใช้งานที่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย นอกจากนี้ ขยายผลโครงการไปยังพื้นที่อื่น ๆ อีก 17 พื้นที่ ผลสำเร็จจากการใช้ระบบ Floating PV ได้แก้ไขปัญหาให้แก่ ชุมชนหลายครัวเรือนในการ จัดการน้ำ การผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกันช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย



โครงการชุมชนยิ้มได้

จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส (Covid-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย กลุ่ม ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติเล็งเห็นว่า กลุ่มชุมชนและเกษตรกรซึ่งเป็นรากฐานของประเทศได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก จึงจัดตั้งโครงการ "ชุมชนยิ้มได้" ในปี 2563 เพื่อนำเอาองค์ความรู้และศักยภาพของกลุ่ม ปตท. เข้ามาช่วยเหลือชุมชนและเกษตรกรให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง โดยแก้ปัญหาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ ผ่านการส่งเสริมช่องทางประชาสัมพันธ์ สร้างการตลาดชุมชน  โดยได้คัดสรรสินค้าคุณภาพที่มีการรับรองตามมาตรฐานสากลจากชุมชนเครือข่ายของ ปตท. ทั่วประเทศที่มีมากกว่า 300 ชนิด  เชื่อมโยงให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชนได้พบกับผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ ตามแนวคิดการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังเข้ามาเป็นที่ปรึกษาพัฒนาศักยภาพชุมชน โดยการเสริมองค์ความรู้ด้านธุรกิจ การสื่อสารการตลาด และการส่งเสริมการจัดการพลังงานในระดับชุมชน เพื่อให้เกิดการยกระดับสินค้าและสร้างโอกาสทางด้านธุรกิจให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวต่อไป

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน

จัดตั้งขึ้นใน ปี พ.ศ. 2551 ในรูปแบบองค์กรดำเนินงานเพื่อสังคมโดยไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อขยายขอบเขตการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนและสังคม โดยประสานความร่วมมือกับ องค์กรอื่นๆ อย่างกว้างขวาง โดยมีภารกิจครอบคลุมด้านพลังงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม

  • ด้านพลังงาน มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ วิเคราะห์ศักยภาพด้านพลังงานร่วมกับชุมชน จัดการอบรมให้ความรู้และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลได้ด้วยตนเองในระยะยาว
  • ด้านสังคม มุ่งเน้นการสร้างโอกาส และเสริมศักยภาพให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้ไร้ที่พึ่ง ผ่านการพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ในการพึ่งพาตนเอง
  • ด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาดินถล่มในพื้นที่ลาดชัน

การดำเนินงานของมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์ความรู้ โดยมีเป้าหมายในการสร้างต้นแบบองค์ความรู้ และแบ่งปันต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่สังคมในวงกว้าง
https://www.psffoundation.com/