สื่อประชาสัมพันธ์

Highlights / กิจกรรม

สื่อประชาสัมพันธ์

Highlights / กิจกรรม

“โครงการลมหายใจเดียวกัน” กลุ่ม ปตท.

“โครงการลมหายใจเดียวกัน” กลุ่ม ปตท.
13 มกราคม 2565

ที่มาของโครงการ

กลุ่ม ปตท. จัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาวิกฤต COVID-19 ของประเทศ ร่วมเป็นพลังต่อลมหายใจของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไป โดยในระยะแรกได้เร่งส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ เครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง กว่า 400 เครื่อง พร้อมสนับสนุนออกซิเจนเหลวแก่โรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤตและมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อใช้ในการรักษาอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด รวมกว่า 300 แห่ง ทั่วประเทศ


ในระยะต่อมาได้สนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม  7 แห่ง ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดหน่วยวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกใน 4 พื้นที่เปราะบางและมีความเสี่ยงสูง  รวมถึงเดินหน้าโครงการ Restart Thailand ต่อเนื่องทำให้มีอัตราการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 25,000 อัตราในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว  ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤตโควิด–19  แล้วรวมเป็นงบประมาณจำนวนกว่า 1,800 ล้านบาท

ด้วยเหตุที่สถานการณ์โควิด-19 เกิดการระบาดระลอกที่ 3 มีผู้ป่วยหนักสูงขึ้น ในเดือนพฤษภาคม 2564 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่ม มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือประชาชน และพร้อมแบ่งเบาภาระของภาครัฐ จึงได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพันธมิตรทางการแพทย์ ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ และโรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้ง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. ขึ้น เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่ยังคงมีตัวเลขที่สูงขึ้น ด้วยมุ่งหวังที่จะมีส่วนในการช่วยลดการเสียชีวิต บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเร็วที่สุด และล่าสุดโครงการฯ ได้ต่อยอด จัดตั้งจิตอาสา “End-To-End Mobile@1745” ระดมพนักงานจิตอาสากลุ่ม ปตท. ให้บริการรับสายเรียกเข้าจากผู้ที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง ด้วยชุดตรวจคัดกรองแบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit: ATK) ที่พบผลตรวจเป็นบวก เพื่อให้คำแนะนำทันที และส่งรถพยาบาล รุดให้ความช่วยเหลือถึงบ้าน นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัด

 

หน่วยคัดกรอง และ โรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)

หน่วยคัดกรอง และ โรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ปตท. มีความตั้งใจให้มีการดำเนินการที่มุ่งเน้น “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” ซึ่งจะเป็นการตรวจรักษาแบบครบวงจร เป็นต้นแบบที่ภาคธุรกิจจับมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย 4 จุดหลัก ได้แก่

  • จุดที่1 หน่วยคัดกรองโควิด – 19 โครงการลมหายใจเดียวกัน

ณ อาคาร EnCo Terminal หรือ EnTer ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เป็นจุดคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยง มีการวางระบบดิจิทัลเพื่อลงทะเบียน เริ่มจากการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit และหากพบว่ามีการเสี่ยงติดเชื้อ จะนำส่งตรวจ RT-PCR และ เอกซเรย์ปอด ต่อไป สำหรับผู้ป่วยระดับสีเขียวที่ตรวจพบเชื้อ แต่สามารถทำการดูแลตนเองที่บ้านหรือในชุมชน (Home or Community Isolation) จะได้รับมอบ “กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” ประกอบไปด้วยชุดอุปกรณ์การทางแพทย์และยาที่จำเป็น รวมทั้งระบบติดตามอาการ ดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์จาก รพ.ปิยะเวท

สำหรับหน่วยตรวจคัดกรองโควิด-19 โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน ได้ตรวจคัดกรองแก่ประชาชนไปแล้วกว่า 48,000 คน มีการนำเข้าสู่กระบวนการรักษาตามระดับอาการ โดยได้ให้การรักษาผู้ป่วยไปแล้วกว่า 3,400 คน  รักษาหายแล้วประมาณ 3,200 คน  (ข้อมูล ณ  31 ตุลาคม 2564)
นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม 2564 ได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 สำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการตรวจคัดกรองที่ EnTer และยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดใดมาก่อน นับเป็นการมุ่งมั่นดูแลประชาชนอย่างครบวงจร

หมายเหตุ : หน่วยคัดกรอง โดยประชาชนสามารถลงทะเบียน ล่วงหน้าผ่านระบบแอปพลิเคชัน QueQ และสามารถ Walk in สำหรับผู้ที่ไม่สามารถลงทะเบียนในระบบ

     ภาพบรรยากาศ ณ หน่วยคัดกรองฯ อาคาร EnTer

  • จุดที่2 โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีเขียว

เปิดให้บริการผู้ป่วยโควิดที่ไม่สะดวกทำ Home Isolation หรือ Community Isolation ในรูปแบบของ Hospitel กระจายไปในหลายโรงแรมใน กทม. จำนวนกว่า 1,000 เตียง  รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากหน่วยคัดกรองอย่างเป็นระบบ

  • จุดที่3 โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีเหลือง

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับหนักขึ้น เปิดให้บริการ ณ โรงแรมเดอะบาซาร์ กรุงเทพฯ มีเตียงผู้ป่วยจำนวน 300 เตียง มีระบบออกซิเจน ต่อ Direct Tube ส่งตรงถึงทุกเตียงผู้ป่วย พร้อมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. เพื่อให้การดูแลคนไข้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เตียงพลาสติกรับน้ำหนักสูง หุ่นยนต์ CARA เป็นหุ่นยนต์ลำเลียงเพื่อช่วยบุคคลากรทางการแพทย์ในการดูแลคนไข้ รวมถึงหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ Xterlizer UV Robot

              ภาพบรรยากาศ ณ โรงพยาบาลสนาม ระดับสีเหลือง

  • จุดที่4 โรงพยาบาลสนาม ICU สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีแดง

จัดสร้างบนพื้นที่  4 ไร่ บริเวณพื้นที่ด้านหน้าของโรงพยาบาลปิยะเวท รองรับผู้ป่วยจำนวน 120 เตียง มีความพร้อมระดับสูงสุด โดยจัดให้มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยโควิดที่ต้องฟอกไตโดยเฉพาะ จำนวน 24 เตียง เนื่องจากหากคนไข้ไม่สามารถฟอกไตได้ จะทำให้คนไข้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก

นอกจากนี้ยังมีเครื่องช่วยหายใจ ระบบออกซิเจนส่งตรงถึงทุกเตียง ซึ่งแต่ละเตียงจะแยกห้องกัน เป็นลักษณะห้องความดันลบ (Negative pressure room) เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมมาตรฐานระดับห้องไอซียูในโรงพยาบาล ใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัล (central monitor) ทำให้สามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยได้ตลอดเวลา และมีระบบการกู้ชีพอัตโนมัติ มีเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ สามารถส่งภาพไปยังรังสีแพทย์ทางไกลได้ทันที ถือเป็นการดูแลผู้ป่วยแบบเข้มข้น (Intensive care) และมีรถพยาบาลฉุกเฉิน ที่เตรียมพร้อมรับส่งคนไข้ อีกทั้งมีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ มีเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. และ “Hybrid Treatment for PM2.5 and Airborne Pathogens” ของสถาบันนวัตกรรม ปตท. มาติดตั้ง เพื่อฟอกและกำจัดเชื้อโรคในอากาศบริเวณโดยรอบอีกด้วย

 

ภาพบรรยากาศ ณ โรงพยาบาลสนาม ICU


นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่ม ปตท.
ยังได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยี ผลิตอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มาพร้อมการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ

  • บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) สนับสนุนหุ่นยนต์ “CARA” เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการส่งอุปกรณ์ อาหาร แก่ผู้ป่วย และหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค “Xterlizer UV Robot” เครื่องฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสง UV
  • บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) GC สนับสนุนผลิตภัณฑ์นวัตกรรม อาทิ หมวกอัดอากาศความดันบวก PAPR ชุดป้องกันการติดเชื้อ PE Gown ชุดตรวจคัดกรอง Rapid Test
  • บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) IRPC คิดค้นนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วย อาทิ เตียงสนามพลาสติกสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองที่สามารถรองรับน้ำหนักได้สูง ชุดป้องกันการติดเชื้อ Cover All เพื่อความปลอดภัยของบุคลากร อุปกรณ์พลาสติก ๆ อาทิ ช้อน-ส้อม ถังขยะ   ถังขยะอันตราย กล่องอเนกประสงค์
  • บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ThaiOil สนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งเดินทางดูแลผู้ป่วยและบุคลากร
  • บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) GPSC สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Rapid Test นวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือระหว่าง GPSC กับ สวทช.
  • บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) OR สนับสนุนการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเครื่องดื่มจาก Café Amazon น้ำดื่มจิฟฟี่ รวมถึงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
  • บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) สนับสนุนพื้นที่และการจัดการพื้นที่ อาคาร EnCo Terminal หรือ Enter ของ กลุ่ม ปตท. ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เป็นหน่วยคัดกรองโควิด-19
  • บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด (PTT Digital Solution) สนับสนุนระบบดิจิทัลสำหรับลงทะเบียน ณ หน่วยคัดกรองโควิด-19
  • บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด (BSA) บริหารระบบการตรวจคัดกรองโควิด-19

การจัดตั้งจิตอาสา “End-To-End Mobile@1745” ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน

ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2564 กลุ่ม ปตท. ร่วมกับพันธมิตรทางการแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้งจิตอาสา End-To-End Mobile@1745” ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน ขึ้น โดยระดมพนักงานจิตอาสากลุ่ม ปตท. ให้บริการรับสายเรียกเข้าจากผู้ที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง ด้วยชุดตรวจคัดกรองแบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit: ATK) ที่พบผลตรวจเป็นบวก เพื่อให้คำแนะนำทันที และส่งรถพยาบาลรุดให้ความช่วยเหลือถึงบ้าน นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างต่อเนื่อง ครบวงจร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1745 และ Line Official Account : ลมหายใจเดียวกันATK  โดยสามารถค้นหาด้วยการพิมพ์ @ptt.covid-atk ได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

 โครงการลมหายใจเดียวกันได้กำหนดเป้าหมายยืนหยัดดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไปจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลาย เพื่อสร้างความอุ่นใจ ความปลอดภัยด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชน แบ่งเบาภาระภาครัฐ และสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวต่างชาติ พร้อมรับการเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

 

เพราะเราเชื่อว่า คนไทยทุกคนล้วนมีลมหายใจเดียวกัน