การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน |
![]() ![]() ![]() ![]() |
การบริหารโครงการ
ปตท. ให้ความสำคัญกับการบริหารโครงการควบคู่ไปกับการจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงได้จัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้สอดคล้องตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือข้อห่วงกังวลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ ตลอดจนการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และข้อกำหนดด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องตลอดอายุโครงการ ตั้งแต่ระยะก่อน ระหว่าง และภายหลังการก่อสร้างโครงการ (ระยะดำเนินการ) อย่างครบถ้วนและเคร่งครัด
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ปตท. ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) สำหรับทุกโครงการที่เข้าข่ายประเภทโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ออกตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
จนถึงปัจจุบัน โครงการขนาดใหญ่ตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติภายใต้การดำเนินงานของ ปตท. ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA แล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตลอดจนคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และหน่วยงานอนุญาตที่เกี่ยวข้อง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ดังนั้น การบริหารโครงการตามแผนแม่บทฯ ในปัจจุบันจึงเป็นการดำเนินงานในระยะก่อสร้าง ที่ต้องมีการกำกับและติดตามให้โครงการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในรายงาน EIA ฉบับที่ได้รับความเห็นชอบ รวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยจะมีการรายงานผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในรายงาน EIA ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานผู้อนุญาตที่เกี่ยวข้อง เป็นประจำทุก 6 เดือน ตลอดจนการกำกับและควบคุมให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
การโยกย้ายถิ่นฐานของชุมชน
ปตท. หลีกเลี่ยงการดำเนินโครงการที่ทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของชุมชนอย่างถาวร ด้วยการออกแบบตำแหน่งและเส้นทางการก่อสร้างที่หลีกเลี่ยงการสร้างที่มีผลกระทบต่อการใช้ที่ดินและทรัพย์สิน ซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากชุมชนให้มากที่สุด โดย ปตท. จะดำเนินการผ่านขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือไม่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสม ปตท. จะให้ข้อมูล ปรึกษาหารือ ทำความเข้าใจกับผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดการยอมรับและมีการจ่ายค่าทดแทนความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่การเลี้ยงชีพ หากมีความเสียหายหรือมีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง ปตท. จะจัดการดูแลซ่อมแซม และปรับคืนสภาพพื้นที่ให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด
การมีส่วนร่วมของประชาชนGRI413-1
ปตท. จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการต่าง ๆ โดยมีการดำเนินงานสอดคล้องตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารโครงการ และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ และเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ แผนการดำเนินงาน การคัดเลือกที่ตั้งหรือแนวทางเลือกของโครงการ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ผลกระทบจากการดำเนินโครงการ มาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแสดงข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ หรือข้อห่วงกังวลต่อการดำเนินโครงการ รวมทั้งมาตรการป้องกัน แก้ไข และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนกำหนดแนวทางดำเนินโครงการที่เหมาะสมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ยอมรับของชุมชน ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน
ปตท. กำหนดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้
- ศึกษาทบทวนข้อมูลพื้นฐานของชุมชนในพื้นที่โครงการ โดยประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ กำหนดกลุ่มเป้าหมายหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Analysis) รวมถึงกำหนดรูปแบบและวิธีการดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นที่เหมาะสมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่ม (Stakeholder Engagement) ในการดำเนินโครงการ
- การเข้าพื้นที่โครงการ เพื่อเตรียมการก่อนรับฟังความคิดเห็น (Preparation Process) โดยจะเตรียมความพร้อมของชุมชนผ่านการให้ข้อมูลกับประชาชน (Public Information) เกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ กติกาการรับฟังความคิดเห็นของโครงการ เน้นการสื่อสารในรูปแบบที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย เช่น แผ่นพับ และป้ายประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและเพียงพอต่อการแสดงความคิดเห็น
- สำหรับโครงการที่ต้องจัดทำรายงาน EIA จะจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เป็นการรับฟังความคิดเห็นต่อ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกหรือที่ตั้งของโครงการ และครั้งที่ 2 เป็นการรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำร่างรายงาน และมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ทั้งนี้ก่อนดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแต่ละครั้ง จะมีการประชาสัมพันธ์และติดประกาศให้ประชาชน ทราบถึงวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ อย่างเพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้ จากนั้นจะสรุปผลการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และประกาศให้ประชาชนทราบภายหลังการรับฟังความคิดเห็นทั้งสองครั้ง
หมายเหตุ
โครงการขนาดใหญ่ หมายถึง โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีกรอบวงเงินลงทุนที่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป (อ้างอิงตาม ประกาศคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เรื่อง หลักเกณฑ์ของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ 2557
มาตรฐานการมีส่วนร่วมกับชุมชนและการพัฒนาชุมชน
การมีส่วนร่วมกับชุมชนและการพัฒนาชุมชน อาทิ การดำเนินโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ปตท. ให้ความสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรม/โครงการในด้านต่างๆ กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจและอาชีพ ด้านสุขภาพและกีฬา ด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณี ด้านการศึกษา และด้านคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ การสนับสนุนกิจกรรมในด้านต่างๆ จะอยู่บนพื้นฐานความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ สำหรับในปี 2565 จัดโครงการมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนในพื้นที่โครงการ จำนวน 20 โรงเรียน โดยมีคุณสมบัติเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในด้านสุขภาพและกีฬา จัดทำโครงการสร้างลานกีฬาและโครงการมอบหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์แก่ชุมชนในพื้นที่โครงการที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 รวมถึงด้านคุณภาพชีวิตได้จัดทำโครงการปรับปรุงห้องสุขาในโรงเรียน และโครงการสร้างห้องขยะติดเชื้อแก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพสต.) นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนด้านภัยพิบัติให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยมอบถุงยังชีพ ประกอบด้วย อาหาร สิ่งของที่จำเป็นและน้ำดื่มเพื่อบรรเทาและเยียวยาความเดือดร้อน
ปตท. จัดทำคู่มือชุมชนสัมพันธ์ที่แสดงแนวทางการดำเนินงานชุมชนสัมพันธ์และการพัฒนาชุมชน (Community Development and Community Relations Guidebook: CD-CR) เพื่อนำไปใช้วางแผนและดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อให้การจัดการด้านชุมชนสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาโครงการเป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกหน่วยงานในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีฝ่ายกิจการเพื่อสังคมเป็นผู้ดำเนินงานและจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ จากการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน
ปตท. วิเคราะห์ความสำคัญของชุมชนโดยใช้แผนที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการระบุกลุ่มเป้าหมายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากนั้นจึงจัดลำดับความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามระดับความต้องการและผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถลำดับการดำเนินงานและตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างเหมาะสม
ชุมชนสัมพันธ์
การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้ ปตท. รับทราบและเข้าใจถึงข้อคิดเห็น ความต้องการและข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาโครงการ เพื่อแสดงถึงการให้ความเคารพในสิทธิชุมชน และสร้างสัมพันธ์กับชุมชนในพื้นที่ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในทุกกิจกรรมจะมีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ตลอดจนข้อเสนอแนะ ข้อกังวลต่าง ๆ ซึ่ง ปตท. จะนำมาพิจารณาในการจัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพที่เหมาะสม พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทราบ
การรับเรื่องร้องเรียนของชุมชน
จำนวนการร้องเรียนจากชุมชนท้องถิ่น
- เปอร์เซ็นต์การร้องเรียนที่ได้รับการระบุและแก้ไข 31.5%
- เปอร์เซ็นต์การร้องเรียนที่ได้รับการแก้ไขโดยการเยียวยา (remediation) 100%
ปตท. กำหนดแนวทางและช่องทางการสื่อสารเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อร้องเรียนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงการตอบสนองต่อข้อร้องเรียนเป็นระบบและมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนของโครงการ ทั้งก่อนการเริ่มโครงการ ระหว่างโครงการ และหลังเสร็จสิ้นโครงการ สำหรับโครงการขนาดใหญ่มีการรับข้อร้องเรียนในรูปแบบคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ปตท. ตัวแทนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนหน่วยงานราชการ รวมทั้งในรูปแบบช่องทางการรับข้อร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบในการดำเนินโครงการผ่านช่องทางเบอร์ 1365 โดยจะประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากับผลกระทบที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างช่องทางการร้องเรียน ได้แก่
- การกำหนดช่องทางในการรับข้อร้องเรียนกรณีมีข้อซักถาม หรือได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างตลอดระยะเวลาการดำเนินการของทางโครงการ
- การกำหนดให้มีพนักงานมวลชนสัมพันธ์และเจ้าหน้าที่มวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่ทางโครงการ
- การแจ้งหรือสื่อสารข้อมูลผ่านทางผู้นําชุมชนเพื่อนําข้อมูลเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการติดตามประเด็นดังกล่าว
- การตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการตลอดระยะก่อสร้าง
- การประสานงาน หรือแจ้งเตือนผ่านหน่วยงานภาครัฐ หรือ ท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์ดํารงธรรม ในพื้นที่
- การยื่นหนังสือร้องเรียนมายัง บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) โดยตรง
- การร้องเรียนผ่านช่องทางติดต่อ Call Center ของ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) โทร. 1365 กด 24
- การร้องเรียนผ่านช่องทาง Website ของ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน)
ระยะดําเนินการ
- จัดให้มีพนักงานมวลชนสัมพันธ์และเจ้าหน้าทมี่วลชนสัมพันธ์ในพื้นที่
- ติดต่อเบอร์โทรฉุกเฉิน ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โทร. 1540
ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
การติดตามผลการดำเนินงาน
ปตท. ได้กำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงาน EIA โดยครอบคลุมการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการทั้งในระยะก่อน ระหว่าง และภายหลังการก่อสร้างโครงการ (ระยะดำเนินการ) เพื่อรวบรวมเป็นรายงานผลการปฏิบัติตาม EIA เสนอต่อหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานผู้อนุญาตที่เกี่ยวข้อง เป็นประจำทุก 6 เดือน นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานอนุญาตเป็นประจำทุก 6 เดือนอีกด้วย
ในระหว่างการดำเนินโครงการ ปตท. จะกำกับและติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทผู้รับเหมาอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์ ประกอบด้วยการประชุมติดตามความก้าวหน้าแผนงาน ปัญหาอุปสรรค และประเด็นร้องเรียนต่าง ๆ การลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานที่หน้างานก่อสร้าง ตลอดจนจัดให้มีเจ้าหน้าที่มวลชนสัมพันธ์ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อรับข้อเสนอแนะหรือข้อร้องเรียนที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่
การวัดผล
ปตท. กำหนดให้คะแนนความผูกพันของชุมชน เป็นตัวชี้วัดผลการมีส่วนร่วมสำหรับโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการ ซึ่งตัวชี้วัดนี้จะสะท้อนถึงประสิทธิภาพของกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่องค์กรจัดทำขึ้น โดยจะมีตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่แตกต่างกันตามปัจจัยสำคัญของแต่ละโครงการ ตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่สำคัญ คือ การสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งมีการดำเนินการทุกปี โดยผลการสำรวจ/ ข้อเสนอแนะ/ ความคาดหวังที่ได้รับจะนำมาพิจารณาในการทำแผนกลยุทธ์การดำเนินงาน/ แผนการสร้างความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ดังเช่นตัวอย่างของการปรับปรุงการดำเนินงานที่เป็นผลมาจากการสำรวจความคิดเห็น การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในพื้นที่โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติพาดผ่าน อาทิ การมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม CSR ในพื้นที่โครงการ ตลอดจนดูแลชุมชน สังคม ควบคู่กับการดำเนินงานโครงการอย่างต่อเนื่อง
สำหรับด้านชุมชนสัมพันธ์ ปตท. ได้กำหนดดัชนีความพึงพอใจของชุมชน เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย การประเมินการพัฒนาความเป็นอยู่และเศรษฐกิจชุมชน การดำเนินงานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมชุมชน การดำเนินกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ และการสื่อความด้านกิจกรรมขององค์กร
ด้านการบริหารผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ
ปตท. ได้กำหนดตัวชี้วัดด้านการบริหารผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ ให้มีความสอดคล้องกับสถานะของการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 โดยมีผลการบริหารโครงการในปี 2565 ที่ผ่านมาดังตารางด้านล่าง
ผลการบริหารโครงการ |
โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก
|
---|---|
การควบคุม ติดตามตรวจสอบ |
100 |
อุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน |
1 |
อัตราการบาดเจ็บจากการทำงานรวม |
0.01 |
โดย โครงการข้างต้นได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA แล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตามรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน แก้ไข และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการกำกับ ควบคุมแรงงานผู้รับเหมาให้มีการปฏิบัติงานตามข้อกำหนดด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและครบถ้วน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายงาน EIA และรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการฯ EIA ของ ปตท. ในโครงการดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) https://eia.onep.go.th/
การรับทราบข้อมูลและการยอมรับโครงการGRI413-1, GRI413-2
เป้าหมายในการดำเนินโครงการคือ โครงการสามารถดำเนินงานตามแผนระยะเวลาที่กำหนด โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ ในกรณีที่เกิดปัญหาจากความเสียหายในการก่อสร้าง หรือได้รับข้อร้องเรียน จะมีการติดตามภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงของปัญหาให้สามารถควบคุมได้ โดยจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งติดตามปัญหาเพื่อแก้ไขโดยเร็วที่สุด
โครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา | |
---|---|
การบริหารผลกระทบแก่ชุมชน | โครงการในปี 2565 |
จำนวนโครงการทั้งหมด | 6 |
จำนวนโครงการที่มีการหารือร่วมกับชุมชน | 6 |
ร้อยละของโครงการที่มีการหารือร่วมกับชุมชนเทียบกับโครงการทั้งหมด | 100 |
พื้นที่ประกอบการในปัจจุบัน | |
---|---|
การบริหารผลกระทบแก่ชุมชน | จำนวนพื้นที่ประกอบการในปี 2565 |
จำนวนพื้นที่ประกอบการ | 8 |
จำนวนพื้นที่ประกอบการที่มีการหารือร่วมกับชุมชน | 8 |
ร้อยละของพื้นที่ประกอบการที่มีการหารือร่วมกับชุมชนเทียบกับโครงการทั้งหมด | 100 |
การรับทราบข้อมูลและการยอมรับโครงการ (ร้อยละ)
2562 | 2563 | 2564 | 2565 | |
---|---|---|---|---|
ผลการรับทราบข้อมูล | 92.28 | 92.90 | 75 | 72 |
ผลการยอมรับโครงการ | 68.38 | 70.30 | 80 | 77 |
ในปีที่ผ่านมา ปตท. ได้มีการดำเนินโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่แล้วเสร็จ 1 โครงการ ได้แก่ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากสถานีควบคุมความดันก๊าซธรรมชาติราชบุรี-วังน้อยที่ 6 (RA6) ไปยังจังหวัดราชบุรี ซึ่งสถานะโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบในช่วงหลังการก่อสร้างวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันปี 2565 ปตท. ได้มีการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ และโครงการขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 (GSP 7) โดยมีรายละเอียดการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
รายละเอียดโครงการ | โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บนบกเส้นที่ 5 | โครงการระบบท่อส่ง ก๊าซธรรมชาติบนบกจาก บางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ | โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 7 | โครงการท่อส่งก๊าซ ธรรมชาติบนบก จากสถานีควบคุม ความดันก๊าซธรรมชาติ ราชบุรี-วังน้อยที่ 6 (RA6) ไปยังจังหวัดราชบุรี |
---|---|---|---|---|
ระยะทางวางท่อ (กิโลเมตร) / พื้นที่โครงการ (ไร่) | 415 กิโลเมตร | 57 กิโลเมตร | 140 ไร่ | 119 กิโลเมตร |
ครอบคลุมพื้นที่ | 104 ตำบล 29 อำเภอ ใน 8 จังหวัด (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยาและนนทบุรี) | 24 ตำบล 6 อำเภอ ใน 2 จังหวัด (ฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ) |
ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ ปตท. อยู่ใกล้สถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง |
38 ตำบล 8 อำเภอ ใน 4 จังหวัด (นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี) |
กำหนดแล้วเสร็จ | 2565 | 2568 | ในส่วนของ plant 2566 | 2564 |
ดำเนินงานในปัจจุบัน | อยู่ในระยะก่อสร้าง | อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม | รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้รับความเห็นชอบ อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง | ระยะดำเนินการ (ส่งมอบโครงการให้กับสายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. 64) |
คะแนนการประเมินความผูกพัน (เป้าหมาย 3.5 คะแนน) |
3.97 | 3.71 | - | 4.0 |
หมายเหตุ จำนวนพื้นที่ประกอบการที่มีการหารือร่วมกับชุมชนอ้างอิงถึงจำนวนพื้นที่ ที่มีการประเมินระดับความผูกพันของชุมชน
ผลการบริหารจัดการโครงการGRI413-1
แผนงาน | ผลการดำเนินงาน ปี 2564 (ร้อยละ) | เป้าหมายปี 2564 (ร้อยละ) | ผลการดำเนินงาน ปี 2565 (ร้อยละ) | เป้าหมายปี 2565 (ร้อยละ) | |
---|---|---|---|---|---|
การควบคุม ติดตามตรวจสอบ ให้มีการปฏิบัติตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม | 100 | 100 | 100 | 100 | |
การให้ข้อมูลและความเชื่อมั่นต่อโครงการ | การรับทราบข้อมูลโครงการ | 75 | 70 | 71.8 | 70 |
การยอมรับข้อมูลโครงการ | 80 | 60 | 76.8 | 60 | |
การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกโครงการ | 73 | 60 | 74.2 | 60 | |
จำนวนข้อร้องเรียนจากชุมชนและการโยกย้ายถิ่นฐาน | 0 | 0 | 0 | 0 |
หมายเหตุ
รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา
ตัวอย่างโครงการหรือกิจกรรมที่สำคัญSDGs 9.1
โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 5 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากสถานีควบคุมความดันก๊าซธรรมชาติราชบุรี - วังน้อยที่ โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 และโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดส่งก๊าซธรรมชาติของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกให้สามารถรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นของโรงไฟฟ้าในเขตนครหลวงตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 และเพิ่มความมั่นคงในการจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเป็นการทดแทนท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก เส้นที่ 1 ที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 เป็นโครงการตามแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง เพื่อให้สอดรับตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว พ.ศ. 2558 - 2579 รวมไปถึงรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติภาคส่วนต่าง ๆ ถือเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในหัวข้อที่ 9 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และการสนับสนุนนวัตกรรม (Industry Innovation and Infrastructure)
โครงการดังกล่าวมีการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดกระบวนรับฟังรับความคิดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนได้แสดงข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวล โดย ปตท. มีการนำข้อเสนอแนะที่ได้รับมาพิจารณากำหนด/ ปรับปรุงมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ตลอดจนมีการกำกับและควบคุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคแรงงานรับเหมาก่อสร้างภายในโครงการ ให้มีการปฏิบัติงานตามข้อกำหนดด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดและครบถ้วน ดังแสดงให้เห็นจากผลการบริหารจัดการโครงการในข้างต้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ส่งผลให้โครงการสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน