ความยั่งยืน

การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืน

การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
 





ปตท. ดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีการบ่งชี้และประเมินประเด็นสำคัญครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (Environmental, Social and Governance Dimension: ESG) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กร ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยวิเคราะห์จากผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่าของทุกสายงานและกลุ่มธุรกิจในองค์กร เช่น ผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมีปนเปื้อน ผลกระทบต่อสิทธิการใช้น้ำของชุมชน เป็นต้น ผลสำรวจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Survey) มาตรฐาน ข้อกำหนด และแนวปฏิบัติ ตลอดจนแนวโน้ม ทิศทางและความเสี่ยงระดับโลก โดยผนวกประเด็นสำคัญดังกล่าวไปในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ และการประเมินความเสี่ยงขององค์กร 

วัตถุประสงค์/ เป้าหมาย

ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายใน หรือก่อนปี 2608 รวมถึงประกาศให้ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติของประเทศ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในประเด็นสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวและคาดการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จึงเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทาย และมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องตามเป้าหมายของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากในอนาคต

แนวทางการบริหารจัดการ

การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของ ปตท. เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการด้าน SSHE มีการกำหนด "นโยบายด้านคุณภาพ ความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (Quality, Security, Safety, Health and Environment Policy: QSHE Policy)" ซึ่งพิจารณาโดยคณะกรรมการจัดการกลุ่ม ปตท. (PTTGMC) และได้รับการพิจารณาและลงนามโดย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และคณะกรรมการ ปตท. อีกตำแหน่งหนึ่ง  เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นขององค์กรและเป็นกรอบในการบริหารจัดการให้กลุ่มธุรกิจ หน่วยธุรกิจ สายงานและพื้นที่ปฏิบัติการต่าง ๆ ตลอดจนบริษัทในกลุ่ม ปตท. นำไปปฏิบัติอย่างครบถ้วนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้น

  • การปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนดขององค์กร มาตรฐานสากล และพันธสัญญาที่เกี่ยวข้อง
  • การจัดการความเสี่ยง ปกป้อง ป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยมีการทบทวนและปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • การสื่อสารผลการดำเนินงานและประสิทธิผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกอย่างโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเกิดความตระหนัก
  • กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้ผู้บริหารทุกระดับเป็นแบบอย่างที่ดี มีการกำกับดูแล และผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องรับทราบ เข้าใจ และนำไปปฏิบัติ


โครงสร้างกำกับดูแล และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม

เพื่อให้มีการถ่ายทอดนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมทั่วทั้งองค์กร ปตท. ได้กำหนดตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญเป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ระยะกลาง ระยะยาว และเป้าหมายประจำปี ซึ่งมีการถ่ายทอดไปยังกลุ่มธุรกิจ หน่วยธุรกิจ สายงานจนถึงพื้นที่ปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง  มีการสื่อความและจัดอบรมชี้แจงนโยบาย ตัวชี้วัด และเป้าหมายให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนเข้าใจเพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างครบถ้วน  ซึ่งมีการติดตามและรายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานตามเป้าหมายต่อผู้บริหารในสายงาน รวมทั้งคณะกรรมการตามโครงสร้างกำกับดูแลฯ ที่กำหนด เป็นรายไตรมาส

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการบริหารจัดการเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่ทั่วภาคส่วนให้ความสำคัญ ได้มีการติดตามและประเมินความเสี่ยงและโอกาสในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมุ่งมั่นยกระดับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างเต็มที่ ตามนโยบายของประเทศ รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของ ปตท. ที่มีความมุ่งมั่นเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ที่กำหนด

สำหรับการบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทานอย่างสมดุล โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิการใช้น้ำของชุมชนและสังคม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ร่วมกันศึกษาและกำหนดเป้าหมายควบคุมและติดตามการดึงน้ำจืด (Freshwater Withdrawal) ของกลุ่ม ปตท. โดยกำหนดให้มีปริมาตรรวมไม่เกิน 74 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2566 และไม่เกิน 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2567  นอกจากนี้ ปตท. ไม่มีการจ่ายเงินค่าปรับหรือถูกลงโทษด้านสิ่งแวดล้อมใด

ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับ การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและการจัดการของเสีย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ร่วมศึกษาและกำหนดเป้าหมายของเสียที่ถูกจัดการแบบหมุนเวียน (% of Wastes that are managed circularly) ให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2573

ทั้งนี้ ยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศ การหกล้นรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี และความหลากหลายทางชีวภาพ  ด้วย

นอกจากนี้ ปตท. ได้ติดตามตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยในกรณีหากตรวจพบว่าผลการตรวจวัดตามมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ปตท.จะจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงแก้ไข และปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดขึ้น รวมถึงรายงานข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามแนวทางและกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ตัวชี้วัด ผลการดำเนินงานและรางวัลที่สำคัญ

ตัวชี้วัด และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์

ตัวชี้วัดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์
  • ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur Dioxide: SO2)

  • ออกไซด์ของไนโตรเจน ซึ่งคำนวณในรูปของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (Oxides of Nitrogen: NOx)
  • ปริมาณการระบายสารอินทรีย์ระเหย (Volatile Organic Compounds: VOCs)
  • ไม่เกิน 25 ตันซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต่อล้านบาร์เรลน้ำมันดิบเทียบเท่า ภายในปี 2573

  • ไม่เกิน 42  ตันออกไซด์ของไนโตรเจนต่อล้านบาร์เรลน้ำมันดิบเทียบเท่า ภายในปี 2573

  • ไม่เกิน 77 ตันสารอินทรีย์ระเหยต่อล้านบาร์เรลน้ำมันดิบเทียบเท่า ภายในปี 2573
  • ปริมาณของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ
  • ปริมาณของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบเป็นศูนย์1
  • ปริมาณของเสียไม่อันตรายจากอุตสาหกรรมที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ
  • ปริมาณของเสียไม่อันตรายจากอุตสาหกรรมที่ส่งไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบเป็นศูนย์1
  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กลุ่ม ปตท.2 ลงร้อยละ 15 ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
    ปีฐาน 2563
  • การใช้น้ำ

ลดปริมาณการใช้น้ำในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และควบคุมปริมาณน้ำใช้ไม่ให้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีปริมาณการใช้น้ำสูงโดยกลุ่ม ปตท. กำหนดเป้าหมายประสิทธิภาพการใช้น้ำในอาคารสำนักงานและในพื้นที่ปฏิบัติการ ดังนี้

  • ลดความเข้มปริมาณน้ำใช้ (Water Intensity) ในปี 2573 ร้อยละ 10 สำหรับอาคารสำนักงาน เมื่อเทียบกับข้อมูลปีฐาน 2556
  • กำหนดเป้าหมายควบคุมและติดตามการดึงน้ำจืด (Freshwater Withdrawal) ของกลุ่ม ปตท. รวมไม่เกิน 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2567
  • การจัดการของเสียตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • กำหนดเป้าหมายของเสียที่ถูกจัดการแบบหมุนเวียน (% of Wastes that are managed circularly) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในปี 25733

หมายเหตุ:

1. ไม่รวมของเสียอุตสาหกรรมจากการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
          • กรณีกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือหน่วยงานราชการไม่อนุญาตให้ส่งของเสียอุตสาหกรรมกำจัดด้วยวิธีอื่น
          • กรณีไม่สามารถนำของเสียอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีในประเทศรองรับ
     ทั้งนี้สอดคล้องกับเกณฑ์รางวัลการใช้ประโยชน์ของเสียได้ทั้งหมด (Zero Waste to Landfill Achievement Award) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม
2.  ค่าเป้าหมายระยะยาวของการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2573 ได้รับการทบทวนและปรับปรุงใหม่ในปี 2564
3.  ไม่รวมของเสียที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามปกติ (Non-routine waste)

การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม

ปตท. จัดเก็บและบันทึกข้อมูลค่าใช้จ่าย รายได้ และการลงทุนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ได้มีการขยายผลการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลฯ ดังกล่าว ไปยังบริษัทในกลุ่ม ปตท. จำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) นอกจากนี้ยังพัฒนาเครื่องมือในการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Return on Investment: EROI) เพื่อใช้วัดประสิทธิผลของการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมในรูปแบบตัวเงินที่ชัดเจนมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของค่าใช้จ่ายและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรตามมาตรฐานสากล “Environmental Management Accounting Procedures and Principles, The United Nations”


การละเมิดข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมCSA 2.2.5

จากเหตุการณ์ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันรั่วไหลจากแหล่งมอนทารา เมื่อปี 2552 ซึ่งดำเนินการโดย  บริษัท PTTEP Australasia (Ashmore Cartier) Pty Ltd (PTTEP AAA) บริษัทย่อยของ บริษัท ปตท. สำรวจและ ผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) PTTEP AAA  ได้แสดงความจํานงที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการควบคุมและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว และได้จัดสรรเงินทุนเพื่อศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2552  และจากกรณีข้างต้น ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงสาหร่ายในประเทศอินโดนีเซียได้ยื่นฟ้องบริษัท PTTEP AAA ต่อศาลสหพันธรัฐ ประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ปี 2565 ปตท.สผ. ได้รับแจ้งว่า PTTEP AAA ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยภายใต้การดำเนินคดีแบบกลุ่มจากเหตุการณ์มอนทารากับกลุ่มผู้เลี้ยงสาหร่ายในประเทศอินโดนีเซียตามคำสั่งศาลสหพันธรัฐประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นขั้นตอนตามปกติของกฎหมายประเทศออสเตรเลียและได้บรรลุข้อตกลงในหลักการโดย PTTEP AAA จะชำระเงินจำนวน 192.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (หรือเทียบเท่าประมาณ 129 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) เพื่อระงับการดำเนินคดีแบบกลุ่มทั้งหมด (รวมถึงการอุทธรณ์) กับกลุ่มผู้เลี้ยงสาหร่ายในประเทศอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงในหลักการเพื่อระงับการดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้ไม่ถือเป็นการรับผิดของ PTTEP AAA โดยยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในขณะนี้เนื่องจากข้อตกลงในหลักการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลสหพันธรัฐประเทศออสเตรเลีย [LINK: จดหมายชี้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ]

การทบทวนปรับปรุงที่สำคัญในรอบปีที่ผ่านมา

ปตท. ดำเนินการทบทวนทิศทางกลยุทธ์ นโยบาย รวมถึงแผนแม่บทการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ 

  • เพิ่มเติมตัวชี้วัดการจัดการของเสียตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนในระยะยาว ได้แก่ กำหนดเป้าหมายของเสียที่ถูกจัดการแบบหมุนเวียน (% of Wastes that are managed circularly) กลุ่ม ปตท. ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในปี 2573
  • กำหนดเป้าหมายควบคุมและติดตามการดึงน้ำจืด (Freshwater Withdrawal) ของกลุ่ม ปตท. รวมไม่เกิน 70 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2566
  • ทบทวนค่าเป้าหมาย Air Emission กลุ่ม ปตท. โดยกำหนดให้มีค่า VOCs, NOx และ SOx ลดลงกว่าร้อยละ 7 จากเป้าหมายเดิม ภายในปี 2573