การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน |
![]() ![]() ![]() ![]() |
ผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ
การบริหารจัดการสายโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืนเป็นการดูแลทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของสายโซ่อุปทานที่มากกว่าการมุ่งเน้นเพียงผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ แต่จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อความยั่งยืนของบริษัทหรือองค์กรเอง และความยั่งยืนต่อมนุษยชาติหรือคนรุ่นหลังในอนาคต
ปตท. เล็งเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการสายโซ่อุปทานดังกล่าวและมีความมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการสายโซ่อุปทานเพื่อความยั่งยืน จึงได้นำหลักการการบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (Environment, Social, Governance: ESG) มาใช้ในกระบวนการจัดหาและบริหารงานผู้ค้า เพื่อให้เกิด “การบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน” ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น (Risk Management) สร้างโอกาสทางธุรกิจ (Opportunity) รวมทั้งร่วมพัฒนาศักยภาพของคู่ค้า ให้มีความพร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจ (Capability Building) ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมรับมือและก้าวไปสู่การเติบโตทางธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน ตลอดจนก่อให้เกิดความมั่นใจในการจัดส่งสินค้าและให้บริการตามความต้องการ (Supply Reliability)
วัตถุประสงค์/ เป้าหมาย
แผนงาน | เป้าหมายปี 2567 | ผลการดำเนินงานปี 2667 | เป้าหมายระยะยาว |
---|---|---|---|
การตรวจประเมินแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้าในกลุ่ม Critical/ Strategic ในพื้นที่ |
ตรวจประเมินผู้ค้าได้ร้อยละ 100 ตามแผนตรวจประเมินผู้ค้า |
ตรวจประเมินผู้ค้าได้ร้อยละ 100 ตามแผน |
ผู้ค้ากลุ่ม Critical/ Strategic (สูงสุดร้อยละ 80) สามารถพัฒนาตนเอง และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน |
การบริหารการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน ISO 20400 |
ดำเนินการบูรณาการความยั่งยืนเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างร่วมกันระหว่างบริษัทในกลุ่ม ปตท. ตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (ISO 20400) อย่างน้อย 3 รายการ |
ดำเนินการบูรณาการความยั่งยืนเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างร่วมกันระหว่างบริษัทในกลุ่ม ปตท. ตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (ISO 20400) 3 รายการ ได้แก่ |
การจัดซื้อจัดจ้างร่วมกันระหว่างกลุ่ม ปตท. สามารถดำเนินการได้ตามแนวทาง ISO20400 และเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด |
การดำเนินการจัดหาสินค้าและบริการที่มีความต้องการจัดหาร่วมกันภายในกลุ่ม ปตท. | ดำเนินการจัดหาสินค้าและบริการร่วมกันกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยมีเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มได้ร้อยละ 7 ของมูลค่าการใช้จ่าย | ดำเนินการจัดหาสินค้าและบริการร่วมกันกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ร้อยละ 12.95 ของมูลค่าการใช้จ่าย | ดำเนินการจัดหาสินค้าและบริการร่วมกันกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยมีเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มได้ร้อยละ 10-12 ของมูลค่าการใช้จ่าย |
ความพึงพอใจของผู้ค้า ต่อการสื่อสารทิศทางการดำเนินงานของ ปตท. เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินงานและระบบจัดซื้อจัดจ้างของ ปตท. ผ่านงานสัมมนาผู้ค้า | คะแนนความพึงพอใจ 4.5 จากคะแนนเต็ม 5.0 | คะแนนความพึงพอใจ 4.83 จากคะแนนเต็ม 5.0 | คะแนนความพึงพอใจ 4.5 จากคะแนนเต็ม 5.0 |
แนวทางการบริหารจัดการGRI414-1
โครงสร้างกำกับดูแล
ปตท. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสายโซ่อุปทาน เช่น คณะกรรมการกำกับดูแลตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ปตท. (คตจ.) สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุและการจัดหาสินค้าเชิงพาณิชย์ประเภท NON-HYDROCARBON เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานด้านการบริหารสายโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คณะกรรมการยังให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติด้านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสม เกณฑ์การคัดเลือกและประเมินคู่ค้าด้านความยั่งยืน และการบริหารความเสี่ยงที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลในตลอดสายโซ่อุปทาน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันภายในองค์กรและบริษัทในเครือ ปตท. ในต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความร่วมมือในการปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ปตท. ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้ค้า โดยมีบทบาทในการกำกับการจัดทำทะเบียนผู้ค้า (PTT Approved Vendor List: PTT AVL) เพื่อประโยชน์ในการจัดหาสินค้าและบริการด้วยวิธีประมูล เพื่อให้มั่นใจว่าภายใต้กระบวนการกำหนดกลุ่มงานและขั้นตอนหรือวิธีการในการคัดเลือกผู้ค้าเพื่อขึ้นทะเบียนผู้ค้ากับ ปตท. นั้น จะได้ผู้ค้าที่มีประสิทธิภาพ สามารถส่งมอบสินค้า/บริการได้ตรงกับความต้องการขององค์กร และส่งเสริมความเป็นพันธมิตร (Partnership) กับ ปตท. อย่างยั่งยืน
นโยบายจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่ม ปตท.
ปตท. ได้ประกาศนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่ม ปตท. เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ลงนามโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ปตท. เพื่อให้บริษัทในกลุ่ม ปตท. มีแนวทางในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในทิศทางเดียวกัน โดยผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. จะทำหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน นอกจากนี้ สำหรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานนั้น ปตท. มีการรายงานและติดตามความเสี่ยงฯ ต่อคณะกรรมการบริหารจัดการความเสี่ยงในระดับคณะกรรมการบริษัท
นอกจากนี้ ปตท. ยังผนวกแนวคิดด้านความยั่งยืนในการบริหารจัดการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีการกรอบดำเนินงานด้านการจัดซื้ออย่างยั่งยืน ดังนี้
- การจัดหาในท้องถิ่น: ปตท. สนับสนุนการจัดหาสินค้าและบริการจากผู้ค้าในท้องถิ่น (ท้องถิ่น หมายถึง การจัดหาภายในประเทศไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ประกอบการสำคัญของ ปตท. (Significant Location)) ตลอดจนส่งเสริมให้มีการจัดหาสินค้าจากพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่เป็นหลัก เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ สร้างงาน และรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ มีข้อได้เปรียบในแง่ของต้นทุนที่ต่ำกว่า และการขนส่งที่รวดเร็วกว่า ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของ ปตท. ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับชุมชน ส่งผลให้องค์กรได้รับความไว้วางใจจากชุมชนในการดำเนินการ นอกจากนี้ ปตท. ยังส่งเสริมให้ผู้ค้าดูแลและรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน ตลอดจนจัดหาสินค้าและบริการในท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนของสินค้าอีกด้วย
นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของกลุ่ม ปตท.
นโยบายและแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้า ปตท.
ปตท. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสายโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน และมีความตั้งใจในการพัฒนาให้การบริหารจัดการเป็นรูปธรรม ผ่านการกำกับดูแลผู้ค้าของ ปตท. โดยกำหนดแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้า ปตท. (PTT Supplier Sustainable Code of Conduct: SSCoC) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับผู้ค้าที่ทำสัญญากับ ปตท. ในวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป และ/หรือ งานที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้ค้าที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ค้ากับ ปตท. โดยมีข้อกำหนดเพื่อช่วยผลักดันให้ผู้ค้าของ ปตท. มีการดำเนินงานอย่างยั่งยืนตาม 4 หัวข้อหลัก ดังนี้
- จริยธรรมทางธุรกิจ
- ความรับผิดชอบต่อสังคม
- ความปลอดภัย
- การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
นโยบายการจัดหาและบริหารงานผู้ค้าอย่างยั่งยืนกลุ่ม ปตท.
แนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้า ปตท.
กระบวนการดำเนินงาน
การบริหารจัดการสายโซ่อุปทานระดับส่วนกลาง
- การคัดเลือกและประเมินผู้ค้า (Supplier Selection and Awarding)
ปตท. กำหนดมาตรฐานการคัดเลือก ประเมิน และตรวจสอบผู้ค้าอย่างยุติธรรมและโปร่งใส ยึดหลักความยั่งยืนทางธุรกิจ ความน่าเชื่อถือของผู้ค้า รวมถึงความสามารถในการตอบสนองความต้องการของ ปตท. โดยมีการจัดทำ “ทะเบียนผู้ค้า (Approved Vendor List)” เพื่อคัดเลือกผู้ค้าที่มีศักยภาพร่วมธุรกิจโดยใช้แบบสอบถามประเมินศักยภาพของผู้ค้า ทั้งคุณสมบัติทางการค้า เทคนิค คุณภาพ ความพร้อมของการบริการ กำลังการผลิต การขนส่ง ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม มาตรฐานอุตสาหกรรม ผู้ค้าต้องมีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจตามแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้า ปตท. โดยผู้ค้าที่ได้คะแนนประเมินผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จะได้รับการอนุมัติให้อยู่ในทะเบียนผู้ค้า ซึ่งการบริหารจัดการทะเบียนผู้ค้าอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการคัดเลือกผู้ค้าและคณะทำงานทะเบียนผู้ค้า นอกจากนี้ ปตท. ได้เพิ่มเติมเงื่อนไขต่างๆ ในข้อกำหนด สำหรับงานจัดหาทุกงานเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ค้าดำเนินงานตามแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้า
- การประเมินความเสี่ยงและระบุคู่ค้ารายสำคัญ (Supplier Screening)
ปตท. จัดโครงสร้างทะเบียนผู้ค้าให้เอื้อต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงของผู้ค้าอย่างรัดกุม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน และป้องกันผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ ปตท. โดยทำการประเมินความเสี่ยงของผู้ค้ากลุ่มหลักตามเกณฑ์การประเมิน 4 ระดับ ใน 2 มิติ ได้แก่
1. ความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของผู้ค้า (Sustainability Risk) ถูกกำหนดขึ้นโดยพิจารณาจากความเสี่ยงเฉพาะประเทศที่มีการดำเนินการจัดซื้อ (Country-Specific Risk) และ/หรือ ความเสี่ยงเฉพาะของอุตสาหกรรมของผู้ค้า (Sector-Specific Risk) และ/หรือความเสี่ยงเฉพาะตัวของสินค้า (Commodity-Specific Risk) โดยครอบคลุมประเด็นด้านความยั่งยืน ดังนี้
1.1 ด้านคุณภาพ: ความล่าช้าของโครงการ และความต้องการด้านคุณภาพของสินค้าหรือบริการ
1.2 ด้านสิ่งแวดล้อม: การจัดการมลพิษทางอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการน้ำและน้ำเสีย การจัดการขยะ และการใช้พลังงาน
1.3 ด้านการกำกับดูแล: การต่อต้านการทุจริต และการแข่งขันที่เป็นธรรม
1.4 ด้านสังคม: แรงงานสัมพันธ์ สิทธิมนุษยชน และความปลอดภัย
2. ความเสี่ยงด้านการส่งมอบ (Supply Risk) ถูกกำหนดขึ้นโดยพิจารณาจากประเภทของสินค้าหรือบริการที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ปตท. เช่น เป็นสินค้าหรือบริการที่มีปริมาณคำสั่งซื้อจำนวนมาก เป็นสินค้าหรือบริการที่สำคัญกับการดำเนินงานของ ปตท. หรือสินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถทดแทนได้
เกณฑ์การประเมินความเสี่ยงคู่ค้าเพื่อระบุคู่ค้ารายสำคัญ
![]() |
ปตท. นำผลลัพธ์จากการประเมินความเสี่ยงมากำหนดแนวทางการบริหารจัดการผู้ค้าตามระดับความสำคัญของผู้ค้า ดังนี้
ระดับการบริหารกลุ่มงานผู้ค้า | ความหมาย | กลยุทธ์ในการบริหารจัดการ | เครื่องมือในการบริหารจัดการ |
---|---|---|---|
1. Critical/ Strategic Supplier | กลุ่มผู้ค้าที่มีกิจกรรมการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลกระทบในระดับรุนแรงต่อผู้ค้าเองและต่อชุมชนโดยรอบ ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ซื้อทั้งทางด้านธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร |
พัฒนาความสัมพันธ์และพลังร่วมทางธุรกิจในระยะยาว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจร่วมกันและสร้างมูลค่าเพิ่ม |
|
2. Key Supplier | กลุ่มผู้ค้าที่มีกิจกรรมการดำเนินงานที่ผลิตภัณฑ์กระจายไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งมีผลกระทบสูงต่อผู้ซื้อทั้งด้านธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร | พัฒนาความสัมพันธ์ระยะยาวเพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย/ ความเสี่ยง และรักษาระดับการแข่งขัน |
|
3. Managed/ Routine Supplier | กลุ่มผู้ค้าที่มีกิจกรรมการดำเนินงานส่วนใหญ่ในเชิงปฏิบัติการ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชุมชนหรือบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยถึงปานกลางต่อผู้ซื้อ | รักษาความสัมพันธ์ตามผลการดำเนินงาน และมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงตามความต้องการของลูกค้า |
|
- การตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ค้าอย่างยั่งยืน (Supplier Assessment)
ปตท. มีกระบวนการตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ค้าอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาข้อกำหนดและเกณฑ์ในการตรวจสอบโดยอ้างอิงกฎหมายภายในประเทศ เช่น กฎหมายด้านแรงงาน กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายด้านความปลอดภัย และมาตรฐานการบริหารจัดการสากลที่เกี่ยวข้อง เช่น ISO9001 ISO14001 ISO45001 รวมถึงการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชัน ในการตรวจสอบและประเมินผู้ค้าในแต่ละปี ผู้ทวนสอบ ESG ของกลุ่ม ปตท. ใช้หลักการทวนสอบข้อมูลอ้างอิงตามมาตรฐาน การตรวจประเมินระบบบริหารจัดการ ISO 19011:2018 โดยมีเป้าหมายในการตรวจสอบและประเมินผู้ค้าในกลุ่มงานที่มีกิจกรรมการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงสูง (Critical/ Strategic Suppliers) ทุกๆ 3 ปี มีขั้นตอนการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้
- การทวนสอบและประเมินจากข้อมูลที่ผู้ค้าแจ้งและเปิดเผย (Desk Assessment)
ปตท. มีกระบวนการการทวนสอบข้อมูล ESG ของผู้ค้า ผ่านแบบฟอร์มการประเมินศักยภาพด้านความยั่งยืน โดย ปตท. กำหนดให้ผู้ค้าที่ขอขึ้นทะเบียนกลุ่มงานที่มีความสำคัญ (Approved Vendor List)/ ผู้ค้าที่มีกิจกรรมการดำเนินงานมีความเสี่ยงสูงหรือกลุ่มผู้ค้าที่อยู่ในกลุ่มงาน Strategic/ Critical นำส่งข้อมูลผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการประเมิน ซึ่งครอบคลุมใน 4 หัวข้อหลัก คือ ความซื่อสัตย์ทางธุรกิจ สิทธิมนุษยชน ความสัมพันธ์แรงงาน สุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน และระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ไปยังผู้ทวนสอบ ESG ของกลุ่ม ปตท เพื่อประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืน หากประเมินพบผู้ค้ามีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานสูง ปตท. ขอสงวนสิทธิ์ในการทวนสอบ ณ สถานประกอบการ (On-Site Assessment) เพื่อยืนยันผลการผลการประเมิน - การประเมิน ณ สถานประกอบการ (On-site Assessment)
สำหรับผู้ค้าที่ได้รับการทวนสอบและประเมินผ่านการตรวจสอบข้อมูล (Desk Assessment) แล้วพบว่ายังคงมีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนสูง ปตท. พัฒนาวิธีการทวนสอบ/ ประเมินผลประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของผู้ค้าเพิ่มเติม ณ สถานประกอบการ ผ่านแบบฟอร์มการประเมินศักยภาพด้านความยั่งยืน ที่มีการพัฒนาตามหลักการและมาตรฐานสากล (มาตรฐาน ISO 45001 ISO 14001 และ ISO 9001) ร่วมกับหน่วยงานทวนสอบภายนอกที่ได้รับการรับรองและน่าเชื่อถือ (3rd Party Assessment) เพื่อดำเนินการทวนสอบการดำเนินงานผู้ค้า โดยผู้ค้าจะต้องได้รับคะแนนจากการประเมินมากกว่าหรือเท่ากับ 2.5 จากคะแนนเต็ม 4 เพื่อผ่านการทวนสอบ หากผู้ค้าได้รับคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องจัดทำแผนการแก้ไขเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน (Corrective Action Plan: CAP)
- การให้คำแนะนำและติดตามการจัดทำแผนการปรับปรุงการดำเนินงานของผู้ค้า
สำหรับผู้ค้าที่ได้รับการทวนสอบแล้วพบว่ายังคงมีความเสี่ยงสูง จะต้องเสนอแผนการปรับปรุงการดำเนินงาน ต่อ ปตท. เพื่อดำเนินการตรวจสอบและติดตามผล พร้อมให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงศักยภาพการดำเนินงานตาม CAP อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และ ณ สถานประกอบกิจการของผู้ค้าในกรณีที่ผู้ค้าไม่สามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด อาจถูกพิจารณายกเลิกสัญญาตามที่กำหนดไว้ในแนวทางการปฏิบัติของผู้ค้า (Supplier Code of Conduct)
- การพัฒนาศักยภาพและการบริหารจัดการความสัมพันธ์ผู้ค้า
ปตท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพผู้ค้าเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยกำหนดกรอบการพัฒนาผ่านการดำเนินงานดังนี้
กิจกรรม
วัตถุประสงค์
งานสัมมนาคู่ค้าประจำปี
สื่อความนโยบาย ทิศทางและแนวทางการดำเนินงานธุรกิจ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็นระหว่างผู้ค้าและ ปตท. รวมทั้งได้มีการสำรวจความพึงพอใจของผู้ค้าในการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารสัญญาทุกครั้งหลังกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเมื่อสิ้นสุดกระบวนการบริหารสัญญา เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โครงการส่งเสริมความรู้เชิงเทคนิคเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความยั่งยืนของผู้ค้า
ส่งเสริมความรู้เชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมมาภิบาล จากการดำเนินธุรกิจของคู่ค้าในระยะยาว โดยมุ่งหวังให้คู่ค้าได้นำความรู้เชิงทฤษฎีไปปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงาน เพื่อลดความเสี่ยง และสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น โครงการ Green Industry ซึ่งมุ่งผลักดันให้ผู้ค้าที่มีใบ รง.4 สามารถขอการรับรอง Green Industry ระดับ 2 ได้
นอกจากนี้ ปตท. ยังให้ความสำคัญในการบริหารระยะเวลาการจ่ายเงินให้กับผู้ค้าตามรายละเอียดข้อกำหนดของงานจัดซื้อจัดจ้างแต่ละงาน เพื่อไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินทั้งต่อผู้ค้าและ ปตท. ซึ่งเป็นการกำหนดระยะเวลาตามประเภทธุรกิจที่ยอมรับกันทั่วไปตามมาตรฐานสากลของธุรกิจนั้น ทั้งนี้ได้คำนึงถึงต้นทุน ความเสี่ยงทางการเงินอันอาจเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยน และความเป็นธรรมต่อคู่ค้าด้วย
- การเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานจัดหา
ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการทบทวนและวางแผนการพัฒนาพนักงานจัดหา (Procurement Officer) เป็นประจำทุกปี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารสายโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน ให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการอบรม สื่อความ รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management: KM) โดยเสริมสร้างศักยภาพพนักงานให้สามารถประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับการทำงานจัดหาได้อย่างเชี่ยวชาญภายใต้ระบบ Digital Procurement ซึ่ง ปตท. พัฒนาขึ้นเพื่อให้กระบวนการจัดหาสินค้าและบริการดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบ มีความคล่องตัว และลดระยะเวลาการทำงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานของพนักงานให้มากยิ่งขึ้น - การพัฒนาระบบงาน Digital Procurement
ปตท. นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความคล่องตัว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร โดยมีการพัฒนาระบบงานเพื่อรองรับและสนับสนุนการปฏิบัติงานจัดซื้อจัดจ้างสำหรับพนักงาน ปตท. เช่น ระบบการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุประจำปี (PTT Procurement Planning) ระบบการจัดซื้อ จัดจ้างด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (PTT Smart Procurement) อีกทั้งยังมีเว็บไซต์และระบบงานเพื่อรองรับกระบวนการเข้าร่วมงานจัดซื้อจัดจ้างสำหรับผู้ค้า ปตท. เช่น เว็บไซต์ประชาสัมพันธ์การจัดซื้อจัดจ้างของ ปตท. (PTT Procurement Website) ระบบขอรับ/ ซื้อเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง และการยื่นซองข้อเสนอและราคาผ่านช่องทางออนไลน์ (PTT Bid Submission) ระบบหลักประกันสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (PTT e-Bank Guarantee) - การเสริมสร้างความโปร่งใสตลอดสายโซ่อุปทาน
ปตท. เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรเป็นรายเดือน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก เป็นการตอบสนองการดำเนินกลยุทธ์ด้าน Transparency & Sustainability ในการเป็นองค์กรที่โปร่งใส โดย ปตท. ปฏิบัติตาม ประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เรื่อง กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลการพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐเป็นข้อมูลที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชนตรวจดูได้ตามมาตรา 9 (8) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องและแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ประสบความสำเร็จ อีกทั้ง ปตท. ได้เสนอโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือโครงการก่อสร้างที่มีงบประมาณตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ต่อกรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และดำเนินการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยประกาศคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของ ปตท. ที่ดำเนินงานอย่างโปร่งใส
การบริหารจัดการสายโซ่อุปทานระดับธุรกิจ
ปตท. กำหนดกลยุทธ์การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานการจัดหาก๊าซธรรมชาติและก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยเน้นคุณภาพและปริมาณส่งมอบที่ถูกต้อง รวดเร็ว ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งในส่วนของ ปตท. และผู้ค้า รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาพรวมของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการจัดหาก๊าซธรรมชาติและก๊าซปิโตรเลียมเหลว
- การจัดหาก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas: NG) ของ ปตท. แบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ได้แก่
- กำหนดรายละเอียดและข้อกำหนดในการจัดหาที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ข้อกำหนดกฎหมาย ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซฯ และข้อกำหนดของ ปตท.
- การพิจารณาคัดเลือกผู้ส่งมอบ/ คู่ค้า เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินข้อกำหนดของ ปตท.และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและกลยุทธ์ของ ปตท. รวมถึงประสิทธิภาพและศักยภาพโดยรวมของผู้ส่งมอบ/ คู่ค้า
- สื่อสารข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการจัดหา รวมถึงการเจรจาและจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ กับผู้ขายก๊าซธรรมชาติ (ผู้ส่งมอบก๊าซฯ)/ คู่ค้า
- ควบคุมการดำเนินงานของผู้ส่งมอบ/ คู่ค้าผ่านการบริหารสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ
- พัฒนาผู้ส่งมอบ/ คู่ค้า โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการประชุม Operation Meeting ทุกเดือน การอบรมและสัมมนาเพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสาร รวมถึงนำความต้องการและความคาดหวัง และข้อร้องเรียนปัญหาคุณภาพก๊าซฯและปัญหาปริมาณก๊าซฯที่ส่งไม่ได้ตามสัญญาฯ มาประกอบการพิจารณาเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขและให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
- ประเมินผลการส่งมอบแต่ละครั้ง รวมถึงการประเมินความสามารถในการให้บริการของผู้ส่งมอบ/ คู่ค้า ทุกเดือน และแจ้งให้ปรับปรุงหากผลการประเมินต่ำกว่ามาตรฐานหรือมีความผิดปกติ ทั้งนี้ จะมีการประเมินความสามารถในการจัดส่ง (Reliability) ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เพื่อจัดทำแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ รวมถึงวางแผนรองรับกรณีผู้ส่งมอบ/ คู่ค้าไม่สามารถดำเนินการจัดส่งได้
- การจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) ของ ปตท. มี 2 รูปแบบคือการจัดหาในรูปแบบสัญญาระยะสั้น/ กลาง/ ยาว และการจัดหารายเที่ยวเรือในตลาดจร (Spot LNG) โดยกระบวนการจัดหาจะพิจารณาจากปริมาณและความต้องการของลูกค้า รวมถึงข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้อกำหนดกฎหมาย ข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการของสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code) และ ระเบียบ/ ข้อกำหนดของ ปตท. โดยจะมีการพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าให้เป็นไปตามเกณฑ์การประเมินของ ปตท. รวมถึงประสิทธิภาพและศักยภาพโดยรวมของคู่ค้า จากนั้นจะมีการเจรจาจัดทำสัญญาฯ โดยมีการควบคุมการดำเนินงานของคู่ค้าผ่านการบริหารสัญญา ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุตามพันธกิจและกลยุทธ์ของ ปตท. นั้น กระบวนการจัดหา LNG ต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ และต้องมีการพิจารณาเรื่องการรองรับการเปิดเสรีธุรกิจ LNG ที่จะส่งผลให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นควบคู่กันไป ดังนั้น ปตท. จึงต้องมีการบริหารความเสี่ยงของการจัดหาและวางแผนบริหารจัดการ LNG Portfolio ให้ได้ต้นทุนที่เหมาะสม ผ่านการจัดหาทั้งในรูปแบบสัญญาระยะสั้น/ กลาง/ ยาว และ Spot LNG เพื่อตอบสนองตามความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของประเทศ
การบริหารจัดการความเสี่ยงในสายโซ่อุปทานระดับ กลุ่ม ปตท.
ในการบริหารจัดการความเสี่ยงในสายโซ่อุปทาน กลุ่ม ปตท. ดำเนินการตามแผนบริหารจัดการเหตุฉุกเฉิน และภาวะวิกฤตของกลุ่ม ปตท. และแผนบริหารจัดการภาวะวิกฤตและบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management: BCM) ผ่านศูนย์บริหารจัดการเหตุฉุกเฉิน ภาวะวิกฤตและบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ การซ้อมแผน BCM ร่วมกันเป็นประจำทุกปี ระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กร การบริหารจัดการหลังเกิดเหตุ และการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งมีการตรวจติดตามแผน BCM จากหน่วยงานภายนอกเพื่อติดตาม/ ทบทวนให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยในส่วนของมาตรการควบคุมและลดความเสี่ยง รวมทั้งผลกระทบด้านการขาดแคลนพลังงานของประเทศ ปตท. ได้ร่วมซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินกับกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่องทุกปี
ผลการดำเนินงานGRI 3-3
การปฏิบัติตามนโยบาย
การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน
ในปี 2567 ปตท. ได้นำเกณฑ์ตามมาตรฐาน ISO20400:2017 มาประยุกต์ใช้กับการจัดหาสินค้าและบริการร่วมกันของบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพิ่มขึ้นจำนวน 3 รายการ และมีแผนจะขยายกลุ่มงานให้ครบถ้วนทุกกลุ่มงานภายในระยะเวลา 5 ปี และยังมีจำนวนงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสิ้น 33 งาน คิดเป็นมูลค่าการจัดหารวมทั้งสิ้น 449 ล้านบาท ในส่วนของการจัดหาในท้องถิ่น สามารถอ้างอิงผลการดำเนินงานตามตารางด้านล่าง
การจัดหาสินค้าและบริการในท้องถิ่นGRI 204-1 (ร้อยละ)
![]() |
การบริหารจัดการสายโซ่อุปทานระดับส่วนกลาง
การคัดเลือกและประเมินผู้ค้า (Supplier Selection and Awarding)
ในปี 2567 มีผู้ค้าที่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนผู้ค้า ปตท. รวมจำนวน 337 รายชื่อ จาก 28 กลุ่มงาน และมีสัดส่วนผู้ค้าที่ผ่านการคัดเลือกด้วยเกณฑ์ด้านความยั่งยืนดังนี้
![]() |
ร้อยละ 100 ผู้ค้าใหม่ ผ่านการคัดเลือกด้วยเกณฑ์การประเมินผู้ค้าด้านการดำเนินงานอย่างยั่งยืน (ESG Assessment Criteria) |
![]() ทำสัญญากับ ปตท. |
ร้อยละ 100 ผู้ค้าที่ทำสัญญากับ ปตท. ในวงเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป และ/ หรืองานที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้ค้าที่ต้องการขึ้นทะเบียนผู้ค้ากับ ปตท. ได้ลงนามรับทราบและปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติอย่างยั่งยืนของผู้ค้า ปตท. |
1. การประเมินความเสี่ยงและระบุคู่ค้ารายสำคัญ (KPIs for Supplier Screening)
ประเภทของข้อมูล |
ผลการดำเนินงาน |
1.1 จำนวนผู้ค้าระดับที่ 1 (ราย) | 1,940 |
1.2 จำนวนผู้ค้าหลักระดับที่ 1 (ราย) | 7 |
1.3 จำนวน % ค่าใช้จ่ายของผู้ค้าหลักระดับที่ 1 เทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมด | 0.45 % |
1.4 จำนวนผู้ค้าหลักระดับที่ 2 (ราย) | 14 |
1.5 จำนวนผู้ค้าที่เป็นผู้ค้าหลักทั้งหมด (ระดับที่ 1 และ ระดับที่ 2) (ราย) | 21 |
หมายเหตุ:
• คู่ค้าระดับที่ 1 หมายถึง กลุ่มผู้ค้าและผู้รับเหมา ที่มีสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโดยตรงกับ ปตท. ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นพัสดุและสินค้า Non-Hydrocarbon
• คู่ค้าหลักระดับที่ 1 หมายถึง กลุ่มผู้ค้าและผู้รับเหมาในระดับที่ 1 ที่ ปตท. ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์และเป็นพลังร่วมทางธุรกิจในระยะยาว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจร่วมกันและสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นกลุ่มผู้ค้า/ผู้รับเหมาที่มีกิจกรรมการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อทั้งกลุ่มผู้ค้า/ผู้รับเหมาเองและ ปตท. และขยายผลกระทบไปสู่ชุมชนโดยรอบ ทำให้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อผู้ซื้อทั้งทางด้านธุรกิจและภาพลักษณ์องค์กร
• ผู้ค้าหลักระดับที่ 2 หมายถึง กลุ่มผู้ค้าและผู้รับเหมาที่ไม่มีการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโดยตรงกับ ปตท. แต่มีความสัมพันธ์ทางอ้อมในฐานะผู้ขาย/ผู้ให้บริการที่มีกิจกรรมการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงแก่ผู้ค้าหลักระดับที่ 1 ของปตท.
ตัวอย่างการบริหารผู้ค้าในกลุ่มงานที่มีความเสี่ยงด้าน ESG สูง : ผู้ค้ากลุ่มการขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางถนน
ปตท. จัดทำข้อกำหนด และมาตรฐานความปลอดภัยในการขนส่ง ตลอดจนวิธีการและเครื่องมือในการบริหารจัดการและกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการขนส่งปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- จัดทำมาตรฐาน คู่มือการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการขนส่ง ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการทบทวนมาตรฐานการขนส่งทางรางให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล Regulation Concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Rail (RID)
- พัฒนาระบบ Advanced Analytics for Road Safety เพื่อวิเคราะห์ ประมวลผล และคาดการณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการขนส่ง โดยใช้ข้อมูล 3 ฐานจากบริษัทรับเหมาขนส่ง ประกอบด้วย ข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ของ พขร., ข้อมูลบำรุงรักษารวมถึงประวัติการเสีย การเกิดอุบัติเหตุ และเส้นทางการขนส่งรวมถึงจุดเสี่ยงในระหว่างการขนส่ง เพื่อนำมาประมวลหาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น แล้วนำมาหามาตรการแก้ไขหรือป้องกัน นอกจากนี้ ปตท. ยังสนับสนุนและผลักดันการนำระบบ MTIS (Marine Terminal Information System) มาใช้งานในกลุ่ม ปตท. โดยกำหนดให้มีการแชร์แนวปฏิบัติที่ดี (Best practice sharing) เกี่ยวกับความปลอดภัยในการขนส่งทางเรือ ให้กับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ผ่านคณะทำงานบริหารความปลอดภัยในการขนส่ง กลุ่ม ปตท. (PTT Group Transportation Safety Management Taskforce)
- จัดกิจกรรม Risk in Road Safety เพื่อส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการขนส่งให้กับผู้พนักงานขับรถขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยมีขั้นตอนดังนี้
- พนักงานขับรถขนส่งผลิตภัณฑ์รายงานจุดเสี่ยงที่พบในเส้นการขนส่ง โดยระบุความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในบริเวณนั้น
- ปตท. ตรวจสอบข้อมูลและพิจารณาจุดเสี่ยงจากระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ที่ผู้ขนส่งผลิตภัณฑ์รายงาน และข้อมูลสถิติอุบัติเหตุบริเวณจุดเสี่ยงนั้น หากพบว่ามีความเสี่ยงสูง ปตท. จะสำรวจพื้นที่และตรวจประเมินความเสี่ยงโดยละเอียด
- นำผลจากการประเมินจุดเสี่ยงของพื้นที่มาพิจารณากำหนดมาตรการแก้ไข ป้องกัน หรือมาตรการลดความเสี่ยง ในกรณีที่จุดเสี่ยงนั้นมีความเสี่ยงสูง
- สื่อความข้อมูลจุดเสี่ยงให้กับผู้บริษัทรับเหมาขนส่งผลิตภัณฑ์ทราบผ่านคณะทำงานบริหารความปลอดภัยในการขนส่ง กลุ่ม ปตท. (PTT Group Transportation Safety Management Taskforce) มอบรางวัลให้กับบริษัทรับเหมาขนส่งผลิตภัณฑ์และพนักงานขับรถตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยในปี 2567 มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 532 คน และมีการรายงานจุดเสี่ยงทั้งหมด 1,163 จุดเสี่ยง ซึ่งได้นำมาเก็บในฐานข้อมูล พร้อมทั้งสื่อความรายงานในที่ประชุมคณะทำงานความปลอดภัยในการขนส่งของกลุ่ม ปตท.
- จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนการจัดการเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤตด้านการขนส่งผลิตภัณฑ์ทางรางร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ผู้นำชุมชน และหน่วยงานราชการจังหวัดพิษณุโลก กรณีเหตุรถไฟตกรางขณะทำการลากจูงขบวนตู้บรรทุกน้ำมันดิบ ณ คลังน้ำมันดิบบึงพระ ตำบลบึงพระ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินให้กับพนักงาน ผู้รับเหมา คนในชุมชน และหน่วยงานราชการ
- จัดประชุมคณะทำงานด้านความปลอดภัยการขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทางเรือ กลุ่ม ปตท. เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงาน โดยครอบคลุมทั้งกลุ่ม ปตท. รวมถึงบริษัทรับเหมาขนส่งฯ ในด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย การบริหารจัดการองค์กร การบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอายุการใช้งานมาก (Aging Assets) การเพิ่มศักยภาพให้กับพนักงานที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน ท่าเรือ และบนเรือ รวมถึงการปลูกฝังและเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้กับผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ เพื่อมุ่งสู่อุบัติเหตุการขนส่งผลิตภัณฑ์ทางน้ำเป็นศูนย์
2. ข้อมูลการทวนสอบเพื่อประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของผู้ค้า ปตท.
ประเภทของข้อมูล |
ผลการดำเนินงาน
|
เป้าหมายประจำปี 2567 |
จำนวนผู้ค้าที่ได้รับ การทวนสอบและประเมินผ่านทางการตรวจสอบจากข้อมูลที่ผู้ค้าแจ้งและเปิดเผย (Desk Assessment) / การประเมิน ณ สถานประกอบการ (On-site Assessment) | 7 | 100 % |
จำนวน % ของผู้ค้ารายสำคัญที่ได้รับการทวนสอบเทียบกับจำนวนผู้ค้าที่ต้องได้รับการทวนสอบทั้งหมด | 100 % | |
จำนวนผู้ค้าที่ได้รับการทวนสอบแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูงต้องมีการเสนอแผนการปรับปรุงการดำเนินงาน | 0 | |
จำนวน % ผู้ค้าที่ต้องเสนอแผนการปรับปรุงการดำเนินงานเทียบกับจำนวนผู้ค้าที่ต้องได้รับการทวนสอบทั้งหมด | 0 | |
จำนวนผู้ค้าที่ต้องมีการยกเลิกสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเนื่องจากทวนสอบแล้วพบว่ามีความเสี่ยงในการดำเนินงานสูง | 0 | |
จำนวนผู้ค้าที่มีการจัดทำและนำเสนอแผนการปรับปรุงการดำเนินงาน | 0 | |
จำนวน % ผู้ค้าที่ต้องเสนอแผนการปรับปรุงการดำเนินงานเทียบกับจำนวนผู้ค้าที่ต้องได้รับการทวนสอบทั้งหมด | 0 | |
จำนวนผู้ค้าที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมความรู้เชิงเทคนิคเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านความยั่งยืนของผู้ค้า | 7 | 100 % |
โดยจากการตรวจสอบและประเมินผู้ค้าด้านความยั่งยืน ปตท. มีข้อเสนอแนะผู้ค้าให้มีการดำเนินการ ดังนี้
มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental: E) |
ข้อเสนอแนะจากการตรวจประเมิน |
---|---|
การจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management) |
|
มิติด้านสังคม (Social: S)
|
ข้อเสนอแนะจากการตรวจประเมิน |
ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย |
|
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม |
|
การจัดการแรงงาน และสิทธิมนุษยชน |
|
มิติด้านการกำกับดูแล (Governance: G) |
ข้อเสนอแนะจากการตรวจประเมิน |
การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ |
|
การจัดหาอย่างรับผิดชอบ |
|
![]() |
หมายเหตุ:
เกณฑ์การตรวจประเมินผู้ค้าด้านการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ESG มีคะแนนเต็ม 4 คะแนน ผู้ค้าต้องได้รับคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ 2.5 จึงจะถือว่าผ่านเกณฑ์
3. การพัฒนาศักยภาพและการบริหารจัดการความสัมพันธ์ผู้ค้า
ในปี 2567 มีการจัดงานสัมมนาผู้ค้าจำนวน 5 ครั้ง ณ สำนักงานใหญ่ (2 ครั้ง) โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง (1 ครั้ง) สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (1 ครั้ง) และสายงานก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (1 ครั้ง) ซึ่งได้สื่อสารถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายด้าน Net Zero ภายในปี 2593 ภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ รวมถึงแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืน การกำกับกิจการที่ดี การบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การขึ้นทะเบียนผู้ค้า ปตท. (Approved Vendor List: AVL) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยระบบ Digital Procurement ที่มุ่งเน้นด้านความโปร่งใส สะดวก รวดเร็ว พร้อมเชิญชวนผู้ค้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตภายใต้โครงการ CAC นอกจากนี้ ปตท. ได้จัดอบรม โครงการพัฒนาศักยภาพด้านความยั่งยืนของผู้ค้า ปตท. โดยการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาการอบรม ซึ่งสัดส่วนผู้ค้าที่อบรมคิดเป็นร้อยละ 100 ของผู้ค้าที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว
จากการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศักยภาพและความสัมพันธ์กับผู้ค้า ปตท. ได้ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจของผู้ค้า โดยมีผลลัพธ์ดังนี้
![]() |
การพัฒนาศักยภาพพนักงานจัดหาและพนักงานในองค์กร
ปตท. มีการจัดอบรมหลักสูตร เช่น การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ประยุกต์ใช้แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน ISO 20400:2017 Sustainable Procurement เพื่อให้พนักงานจัดหา (Procurement Officer) มีทักษะและความเข้าใจ ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน การพัฒนาผู้ตรวจประเมินศักยภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของผู้ค้ากลุ่ม ปตท. (PTT Group ESG Auditor) และการอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนเบื้องต้น (Human Rights) เพื่อให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจในเกณฑ์การประเมินศักยภาพด้านความยั่งยืนของผู้ค้าของกลุ่ม ปตท. (PTT Group ESG Questionnaire) หลักการพื้นฐานของการตรวจประเมิน แนวทางและกระบวนการในการเป็นผู้ตรวจประเมินที่ดี โดยสามารถนำไปปรับใช้หรือบูรณาการเข้ากับกระบวนการตรวจประเมินผู้ค้าแต่ละรายให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรสำหรับให้พนักงานทุกคนเข้าอบรม ได้แก่ หลักสูตรเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาสินค้าเชิงพาณิชย์ รวมถึง เสริมสร้างองค์ความรู้ให้พนักงานเพิ่มเติมด้วยการเชิญวิทยากรที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและมากประสบการณ์จากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ วิทยากรจากกรมบัญชีกลาง และสำนักงานอัยการสูงสุด มาบรรยายให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และข้อสังเกตในการปฏิบัติงานเพิ่มเติม เพื่อให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจ มีความเชี่ยวชาญในงานจัดซื้อจัดจ้างสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาระบบงาน Digital Procurement
ในปีที่ผ่านมา ปตท. ปรับปรุงระบบ PTT Vendor Management (PTTVM) ในฟังก์ชันการตรวจสอบผลประเมินการปฏิบัติงานของผู้ค้าหลังส่งมอบงาน โดยแสดงหัวข้อการประเมิน รายละเอียดการประเมิน และสรุปผลการประเมินในระบบ PTTVM พร้อมออกเป็นรายงานให้ผู้ค้ารับทราบ ซึ่งผู้ค้าสามารถนำผลการประเมินและข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินไปพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นในงวดถัดไป
ความโปร่งใสตลอดสายโซ่อุปทาน
ปตท. ได้รับรางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 11 จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำปี 2566
การบริหารจัดการความเสี่ยงในสายโซ่อุปทานระดับ กลุ่ม ปตท.
ในปี 2567 ปตท. เข้าร่วมฝึกซ้อมทดสอบขีดความสามารถทางไซเบอร์ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อทดสอบและพัฒนาขีดความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) หน่วยงาน Sectoral CERT และ ThaiCERT โดยจำลองสถานการณ์เกิดการโจมตีทางไซเบอร์กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค ผู้โจมตีทำการแฝงมัลแวร์ประเภท Remote Access Trojan (RAT) บนเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและผู้ใช้งานของหน่วยงานเป็นจำนวนมาก ทำให้โจมตีสามารถควบคุมระบบ SCADAและส่งผลกระทบต่อการให้บริการที่สำคัญของหน่วยงานและประเทศ ระบบการให้บริการที่สำคัญของหน่วยงานหรือประเทศ หยุดการให้บริการ
นอกจากนี้ ปตท. ได้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนการแก้ไขสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน ร่วมกับกระทรวงพลังงาน, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการปิดช่องแคบฮอร์มุส ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ส่งผลให้ไม่สามารถขนส่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว จากประเทศกาตาร์ ผ่านช่องแคบฮอร์มุสมายังประเทศไทยได้ ทั้งนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เกิดการบูรณาการและยกระดับการตอบสนองต่อการรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
-
การกำกับดูแลความยั่งยืน
- กลยุทธ์ นโยบาย และการบริหารจัดการสู่ความยั่งยืน
- การกำกับดูแลและธรรมาภิบาล
- การปฏิบัติที่เป็นธรรม
- ระบบการบริหารจัดการด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
- การบริหารความเสี่ยงเเละภาวะวิกฤต
- การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- เครือข่ายด้านความยั่งยืน
- การเปิดเผยข้อมูลและการประเมินผลด้านความยั่งยืน
- ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
- มิติด้านเศรษฐกิจ
- มิติด้านสิ่งแวดล้อม
- มิติด้านสังคม