ความยั่งยืน

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืน

การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ปตท. ส่งเสริมการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่   12, 14  และ 15

โดย ต่อยอดความรู้จากการปลูกป่ามากว่า 25 ปี  เน้นสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกับการใช้ประโยชน์จากป่าหรือพื้นที่สีเขียวในบริบทที่ต่างกันอย่างยั่งยืน บนแนวทางของการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม โดยมีโครงการที่สำคัญ ดังนี้


การส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง และการปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม (Green Mindset)

ปตท. ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองพร้อมปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2562 ได้จัดกิจกรรม 40 ปี ปตท. Plant Together โดยสนับสนุน 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ในการแข่งขันชิงเงินรางวัลจากการออกแบบพื้นที่สีเขียวตามความต้องการของแต่สถาบัน โดย ปตท. ให้การสนับสนุนทุนตั้งต้นในการออกแบบ พร้อมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ร่วมกับภูมิสถาปนิก ในการให้คำแนะนำด้านชนิดพันธุ์ไม้ ความเหมาะสมของพื้นที่ วิธีการดูแลรักษาที่เหมาะสมและประโยชน์ของต้นไม้แก่ผู้เข้าประกวดตลอดการแข่งขัน การดำเนินกิจกรรมดังกล่าวสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองคิดเป็น 2,694 ตารางเมตร หรือ 1.7 ไร่ และสร้างประโยชน์ในการเป็นสถานที่พักผ่อนของนิสิต นักศึกษา อาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย และบุคคลภายนอก ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างมีส่วนร่วม พร้อมปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในเมืองให้ดีขึ้นต่อไป




การปลูกป่ารักษาระบบนิเวศและส่งเสริมการปลูกสวนป่าครัวเรือน

จากการที่ ปตท. ได้ส่งเสริมการดูแลรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมผ่านเครือข่ายชุมชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ สถาบันลูกโลกสีเขียว เครือข่ายราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสปท.) และเครือข่ายหญ้าแฝก จึงได้มีแนวคิดต่อยอดการดำเนินงานโดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบสวนป่าครัวเรือนในพื้นที่ของชุมชนเอง ซึ่งการปลูกสวนป่าครัวเรือน หมายถึง การสร้างสวนป่าในบ้านหรือในครัวเรือนที่มีเอกสารสิทธิ์ โดยการปลูกพืชผสมผสานเป็นประโยชน์ทั้งทางด้านอากาศ และความมั่นคงทางด้านอาหาร ได้แก่ การปลูกไม้ยืนต้น  ไม้ผล ไม้ดอก สมุนไพร  เครื่องเทศ ฯลฯ สอดคล้องตามแนวทางโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และยุทธศาสตร์ชาติด้านการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่สวนป่าครัวเรือนในตำบลปางสวรรค์ อำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์ ไปแล้ว 219 ไร่  นอกจากนี้ ปตท. ยังคงปลูกและดูแลพื้นที่ป่า ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน รวม 1,167,213 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกป่าในปี 2562 จำนวน 2,470 ไร่ ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวมกว่า 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี สร้างประโยชน์ในเชิงรายได้ให้แก่ชุมชนจากการใช้ประโยชน์จากป่าคิดเป็นมูลค่ากว่า 280 ล้านบาท นอกจากนี้ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการทดลองระบบ Smart Farming Prototype ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ โดยติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ ความชื้น แสง อุณหภูมิ พร้อมระบบระบายอากาศและระบบควบคุม เพื่อเป็นต้นแบบในนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับองค์ความรู้จากการปลูกป่า เพื่อการต่อยอดของเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายหรือผู้ที่สนใจต่อไป

การส่งเสริมการเรียนรู้และเข้าใจระบบนิเวศที่หลากหลาย


การส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้ 3 แห่ง
ได้แก่ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ และศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง ซึ่งมีผู้เข้าเยี่ยมชมเฉลี่ยมากกว่าเดือนละ 17,000 คน เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ และเรียนรู้ระบบนิเวศที่หลากหลาย ให้กับองค์กรและประชาชนที่สนใจ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม
ศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนศิรินาถราชินี
ศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์
ศูนย์การเรียนรู้ป่าในกรุง



การใช้ประโยชน์และศึกษาข้อมูลผ่านเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และเส้นทางปั่นจักรยาน ณ แปลงปลูกป่า FPT 49

ปตท. ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 800 เมตร และเส้นทางปั่นจักรยาน ทางขึ้น-ลงเขาสู่ “ต้นประดู่ป่าทรงปลูก” ระยะทางรวม 7 กิโลเมตร ณ แปลงปลูกป่า FPT 49 ตั้งอยู่ที่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าเขาภูหลวง ตำบลลำนางแก้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เปิดให้เข้าเยี่ยมชมทุกวันตั้งแต่ เวลา 8.30-16.30 น. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเพื่อให้ประชาชนทั้งในเมืองและชนบทได้ใช้ประโยชน์จากป่าผ่านกิจกรรมปั่นจักรยานและเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้การฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศ รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจในเวลาเดียวกัน

การสร้างความร่วมมือในการดำเนินโครงการเพื่อสังคมอย่างบูรณาการในพื้นที่บางกะเจ้า (Social Collaboration Mechanism) 

จากการเข้าร่วมเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ Our Khung Bang Kachao ในปี 2561 โดยความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และชุมชน รวม 34 องค์กร ภายใต้การดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวและชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ให้เติบโต แข็งแรง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Green Growth) ใน 3 ด้านหลักคือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าให้ดีขึ้น พร้อมเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนสีเขียวในเมืองของประเทศไทย ซึ่งมีการติดตามความก้าวหน้าร่วมกันอย่างต่อเนื่องผ่านคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่บางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน ในส่วนของ ปตท. ที่รับผิดชอบคณะทำงานพื้นที่สีเขียวและคณะทำงานอำนวยการและสื่อสาร ในปี 2562 มีความก้าวหน้าในการรักษาและพัฒนาพื้นที่สีเขียว จำนวน 400 ไร่  โดยมีการวิเคราะห์หารือแนวทางร่วมกับชุมชน จัดหากล้าไม้ และจัดการระบบน้ำให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการรักษาและพัฒนาพื้นที่สีเขียว จำนวน 6,000 ไร่ ในพื้นที่ 6 ตำบลของคุ้งบางกะเจ้าตามเป้าหมาย 5 ปี (ปี 2562-2566)



สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการด้าน PLANET ของ ปตท.  ได้ดังนี้
สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.
สถาบันลูกโลกสีเขียว
โครงการ Our Khung Bang Kachao