ความยั่งยืน

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม

ความยั่งยืน

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม

ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สังคมและชุมชน ในหลากหลายมิติ ส่งเสริมการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าที่ 4, 7 และ 8 โดยมุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ  ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต ส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานสะอาด  การพัฒนาทักษะอาชีพและโอกาสในการสร้างรายได้แก่สังคมชุนชน


การดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ข้อที่ 4  สร้างโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ และส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต


เนื่องจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ปตท. จึงสนับสนุนให้เยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และส่งเสริมศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดทุกช่วงวัย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างโอกาสทางการศึกษา การส่งเสริมทักษะและความคิดสร้างสรรค์ โดย ปตท. ได้ดำเนินงานพัฒนาการร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายต่าง ๆ ผ่านโครงการที่สำคัญ ดังนี้


การยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน

สถาบันวิทยสิริเมธีและโรงเรียนกำเนิดวิทย์

กลุ่ม ปตท. ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการสนับสนุนงบประมาณแก่ สถาบันวิทยสิริเมธี เพื่อสนับสนุนการสร้างบุคลากรในการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงสนับสนุนการสร้างสายอาชีพนักวิทยาศาสตร์อย่างสมบูรณ์แบบในประเทศ และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้บริการด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงปลูกฝังความรักความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

สถาบันวิทยสิริเมธี
ปี 2562 มีนิสิต อยู่ระหว่างการศึกษาปริญญาโท 10 คน และปริญญาเอก 39 คน  โดยสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทแล้ว จำนวน 2 รุ่น รวม 19 คน และปริญญาเอก 1 รุ่น รวม 2 คน   สถาบันวิทยสิริเมธียังมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานวิจัยที่จะพัฒนาไปสู่นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในด้านต่างๆ ดังนี้


  • Advanced Functional Materials: การพัฒนางานวิจัยด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง เช่น การพัฒนาพื้นผิวของวัสดุ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเกิดปฏิกิริยา ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนในการผลิตในอุตสาหกรรม รวมถึงการพัฒนาแคปซูลและส่วนผสมในยาหรือสารตั้งต้นทางเคมีเพื่อการออกฤทธิ์หรือเกิดปฏิกิริยาที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
  • Energy Science and Applied Technology: การพัฒนางานวิจัยวิทยาศาสตร์พลังงานและเทคโนโลยีในการประยุกต์ใช้ เช่น การพัฒนาวัสดุคอมโพสิต (วัสดุผสม) เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บพลังงาน  (Energy Storage) การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อเพิ่มคุณภาพของ Bio-Oil การพัฒนาซีโอไลท์ (Zeoilite) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่สำคัญในกระบวนการกลั่นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  การออกแบบและพัฒนาสารตัวนำไอออน และการพัฒนารูปแบบการเกิดปฏิกิริยาในระดับโมเลกุลให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
  • Biological Inspired Engineering and Sustainable Technology: การพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างความยั่งยืนในการนำวัสดุจากธรรมชาติ ไปประยุกต์ใช้ เช่น การออกแบบชุดดักจับกลิ่น (Scrubber) ในระบบกำจัดน้ำเสียจากฟาร์มสุกรโดยใช้วัสดุที่หาได้ในพื้นที่และราคาถูก เช่น กาบมะพร้าวและมุ้งไนลอน การพัฒนาตัวดูดซับจากขยะกระดาษ การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเฉพาะเพื่อใช้ในการผลิต Biodegradable polymers ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารเคมี เชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า รวมทั้งมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อน เป็นต้น
  • Data Science and Engineering: การพัฒนางานวิจัยด้านการจัดการข้อมูลดิจิตอลและการใช้ประโยชน์ โดยเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) และนำมาประยุกต์ใช้กับงานด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์การกีฬา สถาปัตยกรรมศาสตร์ การออกแบบเมือง สาธารณสุข การจัดการข้อมูล การศึกษา และอุตสาหกรรม
มีผลงานวิจัยโดดเด่น ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage) จากวัสดุพื้นที่ผิวและรูพรุนจำเพาะสูง และโครงการขยะเพิ่มทรัพย์ หรือ Cash Return from Zero Waste and Segregation of Trash (C-ROS) ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีชีวภาพแบบบูรณาการ ใช้องค์ความรู้ด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) การย่อยในสภาวะไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) และวิศวกรรมกระบวนการ (Process Engineering) สร้างเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนขยะเศษอาหาร ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สารชีวภัณฑ์ที่มีมูลค่า และปุ๋ยชีวภาพคุณภาพสูงในเวลาที่รวดเร็ว โครงการนี้เริ่มดำเนินการปี 2562 ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และ ปตท.

โรงเรียนกำเนิดวิทย์
กลุ่ม ปตท. เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเยาวชน เพื่อเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ และนักนวัตกรรมชั้นนำของประเทศในอนาคต จึงจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้กับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพดีเลิศ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสามารถศึกษาต่อทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของโลกจนถึงระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอกได้ ตลอดจนให้ความร่วมมือทางวิชาการ และให้บริการในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ชุมชน โรงเรียน และบุคคลทั่วไป

ในปัจจุบัน มีนักเรียนศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ระหว่างศึกษา จำนวน 213 คน และ มีนักเรียนของโรงเรียนกําเนิดวิทย์สำเร็จการศึกษาในชั้นแล้ว 2 รุ่น รวม 141 คน โดยมีนักเรียน ได้รับทุนศึกษาต่อต่างประเทศในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี รวม 32 ทุน

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kvis.ac.th


การต่อยอดพัฒนาการศึกษาโรงเรียนเครือข่าย กลุ่ม ปตท. 

กลุ่ม ปตท. ต่อยอดการดำเนินงานด้านการพัฒนาการศึกษา โดยออกแบบโมเดลการศึกษา STEM+E (Science Technology Engineering Mathematics and Ethics) ให้มีการบูรณาการเป็นแนวทางเดียวกัน มีเป้าหมายในการพัฒนาเยาวชน สร้างทักษะและความพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมตามความเชี่ยวชาญของ กลุ่ม ปตท. ในด้านวิทยาศาสตร์ ความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ ด้านพลังงาน และคุณธรรมจริยธรรม มาต่อยอดในโรงเรียนเครือข่ายของกลุ่ม ปตท. จำนวน 96 แห่ง และยังคงให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐ ผ่านโครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งในปี 2562 ดำเนินโครงการฯ กับโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 82 โรงเรียน ในระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เน้นการพัฒนาทักษะความรู้และทักษะการสอนแก่ครูในหลักสูตรวิชาการ ความเป็นผู้นำ และจริยธรรม โดยหลักสูตรจะแบ่งตามความพร้อมของแต่ละโรงเรียนที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดกลุ่มโรงเรียนเพื่อให้การอบรมอย่างเหมาะสมต่อการนำไปประยุกต์ใช้ของแต่ละโรงเรียน


การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพด้านกีฬา

ปตท. ดำเนินโครงการจุดประกายฝัน สานพลังกีฬาไทย ผ่านความร่วมมือกับสมาคมและสโมสรกีฬาต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมกว่า 13 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน และผู้ขาดโอกาสในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้มีโอกาสฝึกฝนและพัฒนาทักษะด้านกีฬา รวมถึงมีเวทีการแข่งขันที่มีมาตรฐาน รวมมากกว่า 40 รายการตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยสู่การแข่งขันระดับประเทศ และต่อยอดสู่มืออาชีพระดับนานาชาติ ภายใต้กลยุทธ์ 3T โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ ประกอบด้วย

(T1): Training ร่วมกับสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย จัดโครงการว่ายน้ำเพื่อชีวิต ฝึกสอนการว่ายน้ำให้กับเยาวชน กว่า 3,360 คน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อจมน้ำ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการสูญเสียชีวิตเยาวชน และร่วมกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำผู้ฝึกสอนฟุตบอลระดับโลก จากประเทศสเปน (EKKONO) จัดกิจกรรมฟุตบอลคลินิก “AFC Grassroots by PTT” ให้แก่เยาวชน ได้เข้าร่วมฝึกทักษะการเล่นฟุตบอลกว่า 900 คน

(T2): Tournament จัดเวทีการแข่งขัน อาทิ พีทีที เทนนิส แชมป์เปี้ยนชิพส์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 950 คนต่อปีจากทั่วประเทศ การจัดการแข่งขัน พีทีที ไทยแลนด์ ไฟว์ 2019 ศึกฟุตซอล 4 เส้า ระหว่างทีมชาติไทย โอมาน กัวเตมาลา และเวียดนาม ซึ่งผลการแข่งขันทีมชาติไทยสามารถคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ

(T3): Thai Cheer ปตท. จัดโครงการพาไทยเชียร์ศึกซีเกมส์ 2019 พากองเชียร์ที่เข้าร่วมโครงการ 40 คน ร่วมเชียร์ทัพนักกีฬาไทยในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ณ กรุงมานิลา ประเทศฟิลิปปินส์ รวมจำนวน 6 แมตซ์การแข่งขัน ประกอบด้วยกีฬาบาสเก็ตบอล มวยสากล ฟุตบอล วอลเลย์บอล และยิมนาสติกลีลา ซึ่งช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักกีฬาไทยในฐานะตัวแทนของประเทศลงแข่งขันชิงชัยในระดับสากล

นอกจากนี้ ปตท. ยังมุ่งส่งเสริมเยาวชนผู้ขาดโอกาสและผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความเท่าเทียมในสังคมและสามารถก้าวต่อไปสู่ฝันที่ตั้งใจ โดยสนับสนุนผ่านโครงการของสมาคมและสโมสรที่สำคัญ ได้แก่ สโมสรกีฬาบีบีจี สมาคมกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาวีลแชร์บาสเก็ตบอลไทย อีกด้วย

การดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ ที่ 7 และ 8 สร้างการเข้าถึงพลังงานสะอาด และพัฒนาทักษะอาชีพ และโอกาสในการสร้างรายได้แก่สังคมชุนชน

ปตท. มุ่งเน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนตามวิถีพอเพียง ทั้งการสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพ การพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำรูปแบบการดำเนินงานแบบธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise มาใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถสร้างการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


การพัฒนาพลังงานชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 

ปตท. ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในชุมชน ใน 3 รูปแบบ ผ่านการดำเนินงานร่วมกับภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีความก้าวหน้า ดังนี้

  • ระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร
    ขยายผลเพิ่ม 1 พื้นที่ ในตำบลป่ายุบใน จังหวัดระยอง และยกระดับการรับรองคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ในพื้นที่โครงการเดิมที่ตำบลคำแคน จังหวัดขอนแก่น สรุปจำนวนพื้นที่โครงการทั้งหมด 4 พื้นที่ ผู้ได้รับประโยชน์รวม 794 ครัวเรือน  สร้างรายได้จากการขายปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตก๊าซชีวภาพ การขายคาร์บอนเครดิต และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานรวม 7.17 ล้านบาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10,518 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไป




  • ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ปตท. 
    ส่งเสริมการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ ผ่านการดำเนินงานใน 3 แนวทาง คือ การถ่ายทอดความรู้และลงทุนให้แก่ชุมชน การถ่ายทอดความรู้และลงทุนร่วมกับชุมชน และการถ่ายทอดเฉพาะความรู้โดยชุมชนเป็นผู้ลงทุน ในปี 2562 ได้ต่อยอดการสนับสนุนการรับรองคาร์บอนเครดิตในโปรแกรม T-VER เพิ่มเติมจำนวน 1 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ตำบลแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่  สรุปจำนวนพื้นที่โครงการทั้งหมด 17 พื้นที่ ผู้ได้รับประโยชน์รวม 500 ครัวเรือน ผลิตไฟฟ้าได้ 349,792 หน่วยต่อปี ลดค่าใช้จ่ายรวม 1,399,168 บาทต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 199 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี  นอกจากนี้ ปตท. ยังสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนผ่านมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน โดยร่วมกับ GPSC ในการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดสูงสุด 17 กิโลวัตต์ พร้อมทั้งจัดอบรมให้ความรู้ด้านพลังงานทดแทน และระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการดูแลรักษาระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย ในพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเตรียมความพร้อมทักษะทางอาชีพแก่ผู้ต้องขังอีกด้วย



  • ระบบส่งน้ำโดยเครื่องตะบันน้ำ
    ขยายผลเพิ่มจำนวน 8 พื้นที่ สรุปจำนวนพื้นที่โครงการทั้งหมด 30 พื้นที่ รวมความสามารถในการส่งน้ำดิบ คิดเป็น 678 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือคิดเป็น 247,356 ลูกบาศก์เมตรต่อปี คิดเป็นค่าน้ำประปาที่ประหยัดได้ 2,523,033 บาทต่อปี


การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

กลุ่ม ปตท. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ผ่าน บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มีการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

  • โครงการร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนเพื่อการสร้างโอกาส (Café Amazon for Chance)
    ขยายผลการจ้างผู้พิการทางการได้ยินเป็นพนักงานและบาริสต้าประจำร้าน เพิ่มจำนวน 2 สาขา รวมเป็น 5 สาขา โดยล่าสุดเปิดสาขาที่ ปตท. สำนักงานใหญ่ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ฝึกอบรมการเป็นบาริสต้าให้แก่ผู้พิการทางการได้ยินทั้งก่อนเริ่มงานและขณะปฏิบัติงานจริง และสนับสนุนโอกาสแก่ผู้บกพร่องทางการเรียนรู้และผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีกด้วย สามารถสร้างงานให้แก่ผู้พิการจำนวน 18 ตำแหน่ง (ผู้พิการทางการได้ยิน 16 ราย และผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ 2 ราย) มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือคิดเป็น 1,512,000 บาทต่อปี ประเมินผลลัพธ์การลงทุนทางด้านสังคม หรือ Social Return on Investment (SROI) ได้ร้อยละ 10 

  • โครงการจัดหาเมล็ดกาแฟจากชุมชน (Community Coffee Sourcing)
    นอกจากการรับซื้อเมล็ดกาแฟแล้ว โครงการยังส่งเสริมการปลูกกาแฟอะราบิการ่วมกับไม้ร่มเงา การจัดการน้ำเสีย และการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปลูกและแปรรูปเมล็ดกาแฟ มีเกษตรกรในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ เกษตรกรบ้านปางขอน เกษตรกรบ้านผาลั้ง อำเภอเมือง และเกษตรกรบ้าน บ้านห้วยหมาก บ้านห้วยหยวกป่าโซ บ้านสามสูง และบ้านอาโต่ อำเภอแม่สลองใน เข้าร่วมจนถึงปัจจุบันรวม 160 ครัวเรือน โดยในปี 2562 รับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาจำนวน 134 ตัน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 15,000-30,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,699,275 บาทต่อปี เพิ่มไม้ร่มเงา 6,500 ต้น  ประเมิน SROI ได้ร้อยละ 13.8 นอกจากนี้ ได้ขยายพื้นที่ดำเนินงานไปส่งเสริมการปลูกกาแฟโรบัสต้าให้แก่เกษตรกรบ้านโป่งลึก เกษตรกรบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รวมถึงร่วมมือกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟในพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจในรูปแบบการจัดการทางธุรกิจและสังคมชุมชนภายใต้กรอบหลักการวิสาหกิจเพื่อสังคม


  • โครงการ PTT Group Lounge
    มีเป้าหมายในการลดภาระการพึ่งพิงวัยแรงงานในการดูแลผู้สูงอายุ และลดภาระรัฐด้านสวัสดิการ ผ่านการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ เปิดดำเนินการที่สนามปั่นจักรยาน เจริญสุข มงคลจิต สนามบินสุวรรณภูมิ มีการจ้างงานผู้สูงอายุจำนวน 5 ราย สร้างรายได้ 13,000 บาทต่อคนต่อเดือน  หรือคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 780,000 บาทต่อปี ประเมิน SROI ได้ร้อยละ 15
  • โครงการ PTT Day Care
    เปิดบริการศูนย์รับเลี้ยงเด็กแก่พนักงานกลุ่ม ปตท. พร้อมสร้างอาชีพให้แก่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากกลุ่มสมาคมแม่บ้านการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2562 ปัจจุบันรับดูแลเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ขวบ จนถึง 4 ขวบ รวม 26 คน และคาดว่าภายในปี 2563 จะสามารถรับได้เต็มจำนวน 40 คน โดยมีพี่เลี้ยงรวม 11 คน ในจำนวนนี้มีการคัดเลือกแม่บ้านจากสมาคมฯ เพื่อไปฝึกงานแล้วจำนวน 3 คน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 11,000 บาทต่อคนต่อเดือน หรือคิดเป็น 253,000 บาทต่อปี ประเมิน SROI ได้ร้อยละ 27

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด 

การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ 

กลุ่ม ปตท. ติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติตลอดทั้งปี เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือและฟื้นฟูให้ประชาชนรอบพื้นที่ธุรกิจของกลุ่ม ปตท. และสนับสนุนการช่วยเหลือของภาครัฐแก่ประชาชน ให้สามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตและสามารถกลับมาดำเนินชีวิตปกติได้อย่างรวดเร็ว  ในปีที่ผ่านมาได้ให้การช่วยเหลือในเหตุการณ์อุทกภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก น้ำท่วมในภาคอีสานและจังหวัดอุบลราชธานี ภัยแล้ง และภัยหนาว ผ่านการสนับสนุนถุงยังชีพ ผ้าห่ม น้ำมันเชื้อเพลิง ทีมกู้ชีพกู้ภัย (PTT Group Seals)  การซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย และเงินบริจาคผ่านทางภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ รวมผู้ได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 32,000 ครัวเรือน