ความยั่งยืน

การจัดการการหกล้นรั่วไหล

ความยั่งยืน

การจัดการการหกล้นรั่วไหล

การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
    





ผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ

จากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในข้อ 6.6 ซึ่งมุ่งเน้นการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ ประกอบกับรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศ พบว่าคุณภาพน้ำของแหล่งน้ำผิวดินและน้ำทะเลชายฝั่งของประเทศไทยบางส่วนอยู่ในขั้นเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก ซึ่งอาจเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น การปล่อยน้ำเสียจากบ้านเรือนอุตสาหกรรม การเกษตร การเกิดน้ำมันรั่วไหลในทะเลจากกิจกรรมการขุดเจาะ การขนส่งน้ำมัน การเดินเรือ หรือเกิดจากการเพิ่มจำนวนของแพลงก์ตอนพืชที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำทะเลเปลี่ยนสี เป็นต้น  ปตท. ซึ่งดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่มีการปฏิบัติการ และกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งที่เป็นของ ปตท. เอง และที่ดำเนินการโดยผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่า เช่น บริษัทขนส่งทางเรือ เป็นต้น ที่มีความเสี่ยงอาจทำให้เกิดการรั่วไหลของน้ำมันหรือสารเคมีลงสู่สิ่งแวดล้อมได้ จึงมีการกำหนดมาตรการป้องกัน ควบคุมและลดความเสี่ยง รวมทั้งจัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเกิดการหกล้นรั่วไหลของน้ำมันหรือสารเคมี เพื่อเตรียมความพร้อมไว้อย่างเป็นระบบ 

วัตถุประสงค์/ เป้าหมาย

ปตท. มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติตามนโยบายคุณภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคง อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (QSHE) ซึ่งรวมถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดเป้าหมายควบคุมการหกล้นรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมีที่มีขนาดตั้งแต่ 1 บาร์เรล แต่ไม่เกิน 100 บาร์เรล และการรั่วไหลที่มีนัยสำคัญ คือ การรั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมที่มีปริมาณมากกว่า 100 บาร์เรลขึ้นไป หรือการรั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมที่เป็นพื้นที่เสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Sensitive Environment) ทุกปริมาณ ให้เท่ากับศูนย์ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดด้าน SSHE ประจำปี

แนวทางการบริหารจัดการ

ด้วยตระหนักดีถึงขอบเขตการปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. ที่กว้างไกล มีกิจกรรมการดำเนินงานที่หลากหลายและห่วงโซคุณค่าที่ซับซ้อน ซึ่งมีโอกาสเกิดการหกล้นรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมีลงสู่สิ่งแวดล้อม ปตท. จึงให้ความสำคัญกับการควบคุม ป้องกัน และลดการหกล้น รั่วไหลของน้ำมันและสารเคมีที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง ตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ปฏิบัติการและกระบวนการผลิตให้มีอุปกรณ์ตรวจจับการหกล้นรั่วไหลจากอุปกรณ์ท่อทางที่เชื่อมต่อกับห้องควบคุม ออกแบบให้มีพื้นที่กักเก็บเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก มีการประยุกต์ใช้ระบบการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety Management System) ตามกฎหมายและมาตรฐานสากล และหากเกิดเหตุหกล้นรั่วไหล มีการเตรียมความพร้อมตอบสนองและรับมือต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน จากการรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมีปนเปื้อน ปตท. อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม กำหนดมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยง จัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเกิดการหกล้นรั่วไหล ซึ่งมีการกำหนดโครงสร้างองค์กรในการตอบสนองและบริหารจัดการเหตุการณ์รั่วไหลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดให้มีเอกสาร อุปกรณ์ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องต่อการรับมือต่อเหตุการณ์รั่วไหลอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

ปตท. บริหารจัดการความเสี่ยงของการหกล้นรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี ภายใต้การบริหารจัดการด้าน SSHE โดยกำหนดนโยบาย เป้าหมายระยะยาวและประจำปี  ไว้อย่างชัดเจน โดยมีกระบวนการบริหารจัดการ ดังนี้

  • วิเคราะห์ขั้นตอนการดำเนินงานและความเสี่ยงที่จะเกิดการหกล้นรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี ในทุกพื้นที่ปฏิบัติการของ ปตท.
  • จัดทำขั้นตอนการดำเนินงาน วิธีปฏิบัติงาน และมาตรการป้องกัน ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด เช่น การติดตั้งทุ่นล้อมกักน้ำมันทุกพื้นที่ปฏิบัติการ โดยจะมีการติดตั้งทุ่นล้อมกักน้ำมันดังกล่าวทุกครั้งที่มีการ Loading น้ำมัน เพื่อไม่ให้น้ำมันหลุดรอดออกนอกทุ่นล้อมกักน้ำมันหากเกิดการรั่วไหล  ซึ่งจะมีการสังเกตการณ์การปฏิบัติ รวมทั้งตรวจประเมินการดำเนินงานเป็นระยะ
  • จัดทำแผนเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินกรณีการหกล้นรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี เพื่อให้สอดคล้องตามแนวทางการตอบสนองกรณีน้ำมันรั่วไหล ของกลุ่ม ปตท. (PTT Group Oil Spill Response Guideline)
  • วิเคราะห์ จัดเตรียมและติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับ และอุปกรณ์ป้องกันและขจัดคราบน้ำมันที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ เช่น เครื่องตรวจจับการรั่วของก๊าซ การติดตั้งระบบสั่งปิดวาล์วผ่านดาวเทียมในระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติ
  • จัดอบรมหลักสูตรป้องกันและขจัดคราบน้ำมันให้แก่บุคลากรในพื้นที่ปฏิบัติการ และหน่วยงานสนับสนุน
  • จัดให้มีการซ้อมแผนฉุกเฉินกรณีการหกล้นรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี ทั้งบนดินและในน้ำ ทุกพื้นที่ปฏิบัติการเป็นประจำทุกปี โดยมีการซ้อมร่วมกับหน่วยงานราชการทั้งในระดับพื้นที่ ภูมิภาค และประเทศ รวมทั้งเครือข่ายพันธมิตรที่ ปตท. เป็นสมาชิก

กระบวนการบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤต



กระบวนการก่อนเกิดเหตุ (Preparedness)

ในสถานการณ์ปกติ ปตท. จะดำเนินการตามระบบบริหารจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety Management) และมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Security Management) เพื่อป้องกันการเกิดเหตุ กรณี หกล้นรั่วไหลที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้แม้การป้องกันดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพมากเพียงใดก็ไม่สามารถป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ได้ครบถ้วน 100% ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติการณ์ขึ้นการเตรียมการเพื่อรองรับกรณีเกิดเหตุหกล้นรั่วไหลนับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ โดย ปตท. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมดังนี้

  • การกำหนดระดับของเหตุฉุกเฉิน กรณี เกิดการหกล้นรั่วไหล เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางการรับมือต่อเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการกำหนดระดับของเหตุฉุกเฉิน กรณี หกล้นรั่วไหล จะถูกกำหนดออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • การเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ ระงับเหตุฉุกเฉิน เช่น บูม (Boom) เครื่องมือจัดเก็บคราบน้ำมัน (Skimmer) เครื่องมือพ่นสารจัดคราบน้ำมัน (Sprayer) สารขจัดคราบน้ำมัน (Dispersant) เป็นต้น เพื่อให้มีความพร้อมในการเผชิญเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น
  • การอบรมและสื่อความ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ มีทักษะ และความเข้าใจเมื่อเกิดเหตุ
  • แผนเผชิญเหตุ กรณี เกิดเหตุหกล้นรั่วไหล เพื่อให้มีแผนสำหรับเข้าเผชิญเหตุและบริหารจัดการเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การทดสอบและการซ้อมแผนจัดการเหตุหกล้นรั่วไหล เพื่อให้มีความคุ้นชิน และความคล่องตัวในการเข้าเผชิญเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น

กระบวนการระหว่างเกิดเหตุฉุกเฉิน (Response)

ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤต เกี่ยวกับการหกล้นรั่วไหลขึ้น ปตท. จะดำเนินการดังนี้

  • การประกาศเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤต เพื่อเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือภาวะวิกฤต เพื่อกำหนดโครงสร้างการบัญชาการเหตุการณ์ให้มีความชัดเจน
  • การจัดการเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤต (Incident/Emergency Command System) จะแบ่งออกเป็นการเผชิญเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อระงับเหตุ และการบริหารจัดการเหตุเพื่อกำหนดแนวทางในการบัญชาการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด
  • การแจ้งและรายงานเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤต เพื่อเป็นการประกาศให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤตทราบ และเตรียมการในการบริหารจัดการเหตุที่เกิดขึ้น
  • การสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤต เพื่อบริหารจัดการการสื่อสารในสถานการณ์ฉุกเฉินและภาวะวิกฤต ทั้งภายใน และภายนอกองค์กรตามแผนที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ในกรณีที่เหตุฉุกเฉินฯ ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบให้องค์กรไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง แผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCM) จะถูกนำมาใช้ เพื่อให้องค์กรมีแนวทางในการดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือภาวะวิกฤตได้อย่างต่อเนื่อง

กระบวนการหลังเกิดเหตุฉุกเฉิน (Recovery)

เมื่อเหตุฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤตสามารถควบคุมได้ ปตท. จะดำเนินการตามกระบวนการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ดังนี้

  • การยกเลิกเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤต เมื่อเหตุฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤตยุติลง รวมทั้งประเมินสถานการณ์ และมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤตเกิดขึ้นอีก ให้ดำเนินการสำรวจความเสียหาย และจัดทำแผนบรรเทาทุกข์/ฟื้นฟู เพื่อให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว จากนั้นจึงพิจารณาประกาศยกเลิกเหตุฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤต
  • การบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูเมื่อเหตุฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤตสงบลง ศูนย์อำนวยการเหตุฉุกเฉิน/ภาวะวิกฤต ต้องจัดทำแผนการบรรเทาทุกข์ และฟื้นฟูความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม ปตท. และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้โดยเร็วที่สุด และลดผลกระทบที่มีต่อภาพลักษณ์ชื่อเสียงขององค์กร โดยต้องกำหนดให้มีการติดตามและรายงานผลการฟื้นฟู ให้ผู้บริหารระดับสูงของสายงานที่เกิดเหตุฉุกเฉินทราบเป็นระยะ จนกว่าการฟื้นฟูจะแล้วเสร็จ

การเป็นสมาชิกเครือข่ายความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก

เพื่อให้มั่นใจในการจัดการเหตุหกล้นรั่วไหลในทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของชุมชนสังคมที่เกี่ยวข้อง ปตท. ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรต่าง ๆ ที่มีทรัพยากร ผู้เชี่ยวชาญ และองค์ความรู้ ที่สามารถให้การสนับสนุนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กรได้เป็นอย่างมาก ดังนี้

  • สมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน (IESG) มีความสามารถในการสนับสนุนการระงับเหตุน้ำมันหกล้นรั่วไหล ในระดับประเทศ หรือ Tier 2
  • Oil Spill Response Limited (OSRL) เป็นองค์กรระดับสากล ที่มีความสามารถในการสนับสนุนการระงับเหตุน้ำมันหกล้นรั่วไหล ในระดับสากล หรือ Tier 3 เพื่อให้การช่วยเหลือในการขจัดคราบน้ำมันกรณีรั่วไหล ครอบคลุมทุกพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. ที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
  • The International Oil Pollution Compensation Funds (IOPC Fund) ปตท. เข้าร่วมกับกองทุน IOPC ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถระงับเหตุที่เกิดขึ้นจากน้ำมันหกล้นรั่วไหล และชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างครอบคลุม

ทั้งนี้ ปตท. ได้จัดทำขั้นตอนการดำเนินงานในการขอรับความช่วยเหลือจาก IESG และ OSRL ไว้อย่างชัดเจน โดยทีมช่วยเหลือของทั้ง 2 องค์กร จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉินในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Oil Spill Response ซึ่งจะคอยให้คำแนะนำแก่ผู้บัญชาการเหตุฉุกเฉินในการควบคุมสถานการณ์ทั้งที่ศูนย์บัญชาการฯ และที่จุดเกิดเหตุ

โครงการ/ Initiatives ที่สำคัญ

โครงการจัดทำแนวทางการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากการรั่วไหลของน้ำมันลงสู่สิ่งแวดล้อม

ปตท. ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดการสภาพแวดล้อมภายหลังการเกิดน้ำมันรั่วไหลเพื่อป้องกัน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ดำเนินการจัดทำแนวทางการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กรณีเกิดการรั่วไหลของน้ำมันลงสู่สิ่งแวดล้อม กลุ่ม ปตท. (PTT Group Oil Spill Remediation Guideline) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสำนักเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ภาควิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้กำหนดแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเหตุน้ำมันรั่วไหลเพื่อนำมากำหนดเป็นมาตรการในการลดและควบคุมผลกระทบให้ครอบคลุมในทุกมิติด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ รวมถึงได้ขยายขอบเขตการศึกษาแนวทางการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาแนวทางการบำบัดฟื้นฟูดินจากการปนเปื้อนของโลหะหนัก กลุ่ม ปตท. เพิ่มเติม

โครงการพัฒนาข้อมูลและส่วนแสดงผลการศึกษาผลกระทบเชิงพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง บริเวณพื้นที่จังหวัดระยอง

ปตท. ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) พัฒนาข้อมูลและส่วนแสดงผลการศึกษาผลกระทบเชิงพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง บริเวณพื้นที่จังหวัดระยอง ในรูปแบบที่สามารถให้การตอบสนองโดยทันที เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดการสถานการณ์กรณีเกิดการรั่วไหลของน้ำมันลงสู่สิ่งแวดล้อม โดยสามารถคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนที่ของน้ำมัน และแสดงผลแผนที่พื้นที่อ่อนไหวของทรัพยากรธรรมชาติต่อมลพิษน้ำมันบริเวณจังหวัดระยอง ครอบคลุมทั้งพื้นที่บนบกและพื้นที่ในทะเล ที่สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนขจัดคราบน้ำมัน เป็นแนวทางในการจัดลำดับความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ควรได้รับการปกป้องหรือฟื้นฟู ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาและจัดการพื้นที่ชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป เพื่อมั่นใจระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการฟื้นฟูให้กลับสู่สมดุลโดยเร็ว โดยในปี 2565 ได้มีการนำไปใช้ในการคาดการณ์แนวโน้มการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมัน กรณีน้ำมันรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง

ในการนี้ ปตท. มีแผนในการพัฒนาข้อมูลและส่วนแสดงผลการศึกษาผลกระทบเชิงพื้นที่ไปในพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากบริเวณชายฝั่งระยอง พร้อมทั้งจัดทำแนวทางการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศทางทะเล เช่น ทรัพยากรชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน รวมถึงแผนการศึกษาผลกระทบที่มีต่อสิ่งมีชีวิต หากเกิดกรณีหกล้นรั่วไหลของน้ำมันต่อไป

แนวทางการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากการรั่วไหลลงสู่ดิน 

สำหรับการรั่วไหลลงสู่ดิน กลุ่ม ปตท. ได้ขยายขอบเขตการศึกษาแนวทางการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาแนวทางการบำบัดฟื้นฟูดินจากการปนเปื้อนของโลหะหนักเพิ่มเติม  นอกจากนี้ ในการควบคุม ป้องกันและลดความเสี่ยงของการหกล้นรั่วไหลของน้ำมันและสารเคมี จากการขนส่งผลิตภัณฑ์ทางรถยนต์และทางเรือซึ่งดำเนินการโดยผู้รับเหมาขนส่ง  ปตท. ได้กำหนดวิธีการควบคุมและกำกับดูแลไว้อย่างเป็นระบบ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ การจัดการความปลอดภัยในการขนส่ง

การบริหารจัดการเหตุการณ์น้ำมั่นรั่วไหลที่มอนทารา ประเทศออสเตรเลีย ของ กลุ่ม ปตท.

จากเหตุการณ์มอนทารา ปี 2552 กลุ่ม ปตท. ยกระดับการบริหารจัดการเหตุการณ์รั่วไหลที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อให้มั่นใจว่าการรั่วไหลจากแต่ละกิจกรรมได้ถูกระบุ ประเมิน และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและสอดคล้องตามข้อกำหนดทางกฎหมาย กลุ่ม ปตท. มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินระดับบริษัทและระดับพื้นที่โครงการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินความพร้อมและศักยภาพในการจัดการการรั่วไหล รวมถึงเสนอแผนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง  ตลอดจนการจัดทำเอกสารบทเรียนจากมอนทารา

โดยคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหารสายงานกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ของ ปตท. มีการกำกับและติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ในปี 2565 ปตท.สผ. ได้รับแจ้งว่า PTTEP AAA ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยภายใต้การดำเนินคดีแบบกลุ่มจากเหตุการณ์มอนทารากับกลุ่มผู้เลี้ยงสาหร่ายในประเทศอินโดนีเซียตามคำสั่งศาลสหพันธรัฐประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นขั้นตอนตามปกติของกฎหมายประเทศออสเตรเลีย

การเข้าร่วมสนับสนุนการแก้ไขเหตุการณ์น้ำมันไม่ทราบชนิดและแหล่งที่มา ที่ จ.สงขลา

จังหวัดสงขลาได้รับแจ้งจากอำเภอสิงหนครว่า เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ได้ตรวจพบคราบน้ำมันกระจายส่งผลกระทบต่อชุมชน และอาชีพการประมลและการเลี้ยงสัตว์น้ำ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ขจัดคราบน้ำมัน อำเภอสิงหนคร ได้บูรณาการหน่วยงานระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และภาคเอกชน เข้าดำเนินการขจัดคราบน้ำมันดังกล่าว รวมทั้งดูแลและช่วยเหลือชุมชนรอบสถานประกอบการ แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท.

ตัวชี้วัดและผลการดำเนินงานที่สำคัญ

 ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ ปตท. ประจำปี 2566