ความยั่งยืน

การกำกับดูแลและธรรมาภิบาล

ความยั่งยืน

การกำกับดูแลและธรรมาภิบาล

การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
 





โครงสร้างกำกับดูแลและคณะกรรมการ ปตท.

โครงสร้างกำกับดูแลและคณะกรรมการGRI2-9

ปตท. กำหนดโครงสร้างกำกับดูแลองค์กร ประกอบด้วย คณะกรรมการ ปตท. ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้นเพื่อกำกับดูแลแนวทางการดำเนินงานของ ปตท. โดยแบ่งเป็นคณะกรรมการเฉพาะเรื่องจำนวน 5 คณะ ช่วยกลั่นกรองงานที่มีความสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร โดยมีฝ่ายจัดการ ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินกิจการและบริหารงานของบริษัทโดยรวม มีประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัท

คณะกรรมการ ปตท. มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนกลยุทธ์ วิสัยทัศน์ นโยบายและการดำเนินงานที่สำคัญขององค์กร อาทิ อนุมัติแผนการดำเนินงานและงบประมาณประจำปี การกำหนดค่าตอบแทน การบริหารความเสี่ยง ซึ่งต้องพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการกำกับดูแล ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินงานของฝ่ายจัดการผ่านการรายงานผลการดำเนินการทั้งในส่วนที่เป็นตัวเงินและส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงิน ในที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. รายไตรมาส ตลอดจนติดตามการดำเนินงานของฝ่ายจัดการผ่านคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง เพื่อช่วยกลั่นกรองงานที่มีความสำคัญอย่างรอบคอบ ขับเคลื่อนให้ดำเนินการตามกลยุทธ์และกรอบนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ ตลอดจนกำกับดูแลให้มีการดำเนินกิจการอย่างมีจริยธรรม ตามหลักธรรมมาภิบาล มีความโปร่งใส เที่ยงธรรม ตรวจสอบได้ ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุลและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น

ฝ่ายจัดการ มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารบริษัทตามแผนงานหรืองบประมาณตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. อย่างเคร่งครัด ซื่อสัตย์ สุจริต รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างดีที่สุด ฝ่ายจัดการใช้อำนาจในการบริหารจัดการผ่านคณะกรรมการจัดการของ ปตท. (PTT Management Committee: PTTMC) และมีคณะกรรมการระดับจัดการชุดอื่น ๆ อีก 55 คณะ ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาและจัดการเรื่องภายในบริษัทให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

คณะกรรมการ ปตท.GRI2-9, GRI2-11

โครงสร้างคณะกรรมการฯ เป็นระบบคณะกรรมการ 1 ระดับชั้น (One-Tier System)  กล่าวคือคณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ซึ่งในปัจจุบันมีกรรมการอิสระทั้งสิ้น  12 คน และกรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหาร 2 คน  ทั้งนี้ ปตท. ได้กำหนดให้ประธานกรรมการ ไม่เป็นผู้บริหารของ ปตท. และเป็นคนละบุคคลกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ อันเป็นแนวปฏิบัติต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 เพื่อให้การดำเนินงานมีความโปร่งใสตรวจสอบได้

คณะกรรมการ ปตท. ประกอบด้วยผู้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ที่ส่งเสริมและเป็นประโยชน์แก่ ปตท. ได้เป็นอย่างดี มีความทุ่มเทและให้เวลาอย่างเต็มที่ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ คณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งจากผู้ถือหุ้นเพื่อกำกับดูแลแนวทางการดำเนินงานของ ปตท. แต่งตั้งฝ่ายบริหาร เพื่อรับผิดชอบการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง เพื่อรับผิดชอบเฉพาะเรื่องที่ได้รับมอบหมาย และแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัท รวมทั้งแต่งตั้งเลขานุการบริษัท รับผิดชอบการดำเนินการประชุม และการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยสามารถอ่านรายละเอียดนโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับคณะกรรมการฯ รวมถึงมีการเปิดเผยประวัติและรายละเอียดการดำรงตำแหน่งของกรรมการทุกรายในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2566 (แบบ 56-1 One Report) และเว็บไซต์หัวข้อคณะกรรมการ ปตท. 


กระบวนการสรรหาและคัดเลือกคณะกรรมการ
GRI2-10

คณะกรรมการบริษัท จะผ่านกระบวนการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา โดยปัจจุบัน มีกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ที่มีความรู้ หรือประสบการณ์เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงาน (Industry Experience ตามเกณฑ์ GICS Level 1) ทั้งสิ้น 4 คน อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของคณะกรรมการ ไม่เพียงแต่คุณสมบัติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพที่จำเป็นต่อการบริหารกิจการของ ปตท. ได้อย่างสมดุล เช่น ผู้ที่มีความรู้ด้านธุรกิจพลังงาน/ปิโตรเลียม ด้านกฎหมาย/นิติศาสตร์ ด้านบัญชี/การเงิน เท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางด้านสังคม เชื้อชาติ เพศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ซึ่งในปี 2566 มีกรรมการเพศหญิง 1 คน ได้แก่คุณพงษ์สวาท นีละโยธิน กรรมการอยู่ในตำแหน่งโดยเฉลี่ยท่านละ 2.5 ปี

ในปี 2566 สัดส่วนของกรรมการ ปตท. ที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเฉลี่ยร้อยละ 97 ซึ่งเกินกว่าที่ ปตท. กำหนดสัดส่วนการเข้าร่วมประชุมกรรมการที่ร้อยละ 80

บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความยั่งยืนของคณะกรรมการGRI2-9, 2-12,  2-13

บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบด้านความยั่งยืนของคณะกรรมการ
ปตท. กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยระบุโครงสร้าง หน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน ทั้งในระดับคณะกรรมการบริษัท  ฝ่ายจัดการ  ผู้บริหาร รวมทั้งหน่วยงานภายใน เพื่อผลักดัน สนับสนุน ติดตาม และทบทวนการบริหารจัดการประเด็นสำคัญและผลกระทบด้านความยั่งยืนในภาพรวม ให้บรรลุตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดังภาพ
    • โครงสร้างองค์กร ในระดับสายงานผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน ภายใต้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการความยั่งยืนโดยตรง ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
    • คณะกรรมการ ปตท. และคณะกรรมการจัดการ ประกอบด้วย

      - คณะกรรมการจัดการการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร หรือ Governance Risk and Compliance Management Committee (GRCMC) ซึ่งจะดูแลภาพรวมด้านความยั่งยืนและกลั่นกรองรายละเอียดก่อนเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืนหรือ Corporate Governance and Sustainability Committee (CGSC) ซึ่งได้มอบหมายจากคณะกรรมการ ปตท. ให้กำกับดูแลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อพิจารณาต่อไป
      - คณะกรรมการบริหารความยั่งยืน กลุ่ม ปตท. หรือ PTT Group Sustainability Management Committee (GSMC) ทำหน้าที่พิจารณา ผลักดัน และสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของกลุ่ม ปตท. ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 


ประเด็นสำคัญและผลกระทบด้านความยั่งยืนของ ปตท.  คณะกรรมการ ปตท. และคณะกรรมการฯ ในระดับจัดการตามโครงสร้างกำกับดูแลที่กำหนด มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำ คำปรึกษา ติดตามการดำเนินงานและเห็นชอบการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ดังนี้

การพัฒนาความรู้และศักยภาพคณะกรรมการGRI 2-17

คณะกรรมการ ปตท. และผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญต่อการเข้าร่วมอบรมสัมมนาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการอย่างสม่ำเสมอ (รายละเอียดการอบรมแสดงอยู่ในหัวข้อ 8 รายงานผลการดำเนินงานสำคัญด้านการกำกับดูแลกิจการ เรื่อง การพัฒนากรรมการ ปตท. ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2566 (แบบ 56-1 One Report) โดยกรรมการ ปตท. ส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 90) มีประวัติได้เข้ารับการอบรมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) รวมทั้งองค์กร/ สถาบันชั้นนำอื่น ๆ และการเข้าร่วมสัมมนาต่าง ๆ ในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ปตท. ยังได้จัดการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำและหน่วยงานภายใน ปตท. และกลุ่ม ปตท. ให้มานำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ สำหรับธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ (In-house Briefing) รวมทั้งจัดให้คณะกรรมการได้ดูงานจากหน่วยงานหรือองค์กรอื่นตามความเหมาะสม เพื่อทำให้เกิดมุมมองความคิดที่เป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของ ปตท. ให้เติบโตอย่างยั่งยืน 

ในปี 2566 กรรมการเข้ารับการอบรม/ กิจกรรมสัมมนา ที่เป็นการเพิ่มพูนความรู้ในการปฏิบัติงานและกิจกรรมของบริษัท ตัวอย่างเช่น 

  • การรับฟังบรรยายความรู้ เรื่อง เทคโนโลยีและการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจน
  • การรับฟังบรรยายความรู้ เรื่อง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติของ ปตท.
  • การรับฟังบรรยาย NBI Think Tank: ในหัวข้อ GEOPOLITICS: ระเบียบโลกใหม่ และการวางกลยุทธ์การค้าการลงทุนของไทยและกลุ่ม ปตท.
  • การรับฟังบรรยายเรื่อง Update on risk insider trading
  • Knowledge Sharing: Rejuvenating DNA by Genetic Stability Molecule (มณีแดง)
นอกจากนี้ กรรมการ ปตท. ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมอื่น ๆ ของบริษัท เช่น การตรวจเยี่ยมธุรกิจ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ทั้งในประเทศและต่างประเทศ, การตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน ณ GSM Shipper Control Center ของคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นต้น

การประเมินผลการดำเนินงานและค่าตอบแทนGRI 2-18, GRI 2-19, GRI 2-20, GRI 2-21

การประเมินผลการดำเนินงานคณะกรรมการGRI2-18
ปตท. จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการเป็นประจำทุกปี ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท. โดยแบบประเมินคณะกรรมการบริษัท จะมี 5 แบบ ประกอบด้วย แบบประเมินผลคณะกรรมการทั้งคณะ แบบประเมินผลคณะกรรมการรายบุคคล (กรรมการประเมินตนเอง) แบบประเมินผลคณะกรรมการรายบุคคล (ประเมินโดยกรรมการท่านอื่น) แบบประเมินผลคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง (กรรมการเฉพาะเรื่องประเมินการทำงานของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องที่ตนเองดำรงตำแหน่ง) และแบบประเมินบทบาทหน้าที่และผลการปฏิบัติงานของประธานกรรมการความพึงพอใจการทำงานของคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง และประธานกรรมการเฉพาะเรื่องในแต่ละคณะ (ประเมินโดยกรรมการทุกท่าน) ตามรายละเอียดการประเมินในแบบ 56-1 One Report ประจำปี 2566 ในหัวข้อ 8 รายงานผลการดำเนินงานสำคัญด้านการกำกับดูแลกิจการ เรื่อง การประเมินผลตนเองของคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการสามารถใช้ข้อมูลที่ได้จากแบบประเมินนี้ในการพิจารณาทบทวนผลงาน ปัญหาและอุปสรรคในปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ปตท. ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีการเปิดเผยผลการประเมินไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/ รายงานประจำปี 2566 (แบบ 56-1 One Report) นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2560 คณะกรรมการได้นำตัวชี้วัดการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ (KPI) มาวัดผลการดำเนินงาน เพื่อประกอบการพิจารณาค่าตอบแทนของกรรมการด้วย

คณะกรรมการ ปตท. ยังได้รับการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการ โดยผู้ประเมินอิสระ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง เป็นประจำทุกปี และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) เป็นประจำทุก 2 ปี (หรือตามระยะเวลาที่ IOD กำหนด) ซึ่ง ปตท. ได้กำหนดนโยบายค่าตอบแทนกรรมการที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล และมีคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนเป็นผู้ทบทวน โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาระความรับผิดชอบของกรรมการ สถานะการเงินของบริษัท ผลการดำเนินงานของ ปตท. ตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (Performance Agreement: PA) และเปรียบเทียบกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน

นโยบายการกำหนดค่าตอบแทนคณะกรรมการGRI2-19
ปตท. ได้กำหนดนโยบายค่าตอบแทนกรรมการที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล โดยมีคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน ทำหน้าที่ทบทวนค่าตอบแทนกรรมการให้มีความเหมาะสม คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนใช้แนวปฏิบัติในการพิจารณาค่าตอบแทนสำหรับกรรมการและกรรมการเฉพาะเรื่องของ ปตท. ประจำปี 2566 โดยพิจารณาปัจจัยที่สำคัญ เช่น แนวปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมเดียวกันและบริษัทชั้นนำทั้งระดับประเทศและระดับโลก แนวปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ผลประกอบการ ขนาดธุรกิจ ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ปตท. รวมทั้งข้อมูลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มาใช้ในการพิจารณาด้วย โดยกำหนดค่าตอบแทนเป็นค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยประชุม และโบนัส อนึ่ง กรรมการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการเฉพาะเรื่องชุดอื่น ๆ ก็ให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มตามความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ค่าตอบแทนกรรมการประจำปี 2566 ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 เมื่อวันพุธที่ 12 เมษายน 2566  ดังนี้

1) ค่าตอบแทนรายเดือนและเบี้ยประชุมคณะกรรมการ ปตท. ประกอบด้วย
  • ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 30,000 บาทต่อท่าน โดยประธานกรรมการได้รับค่าตอบแทนรายเดือนเป็นสองเท่าของกรรมการ
  • เบี้ยประชุม ครั้งละ 60,000 บาท เฉพาะกรรมการที่เข้าประชุม โดยประธานกรรมการได้รับมากกว่ากรรมการร้อยละ 25 โดยจำกัดการจ่ายเบี้ยประชุม ไม่เกิน 1 ครั้งต่อเดือน ในกรณีมีเหตุสมควร อาจพิจารณาจ่ายได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ต้องไม่เกิน 15 ครั้งต่อปี
2) ค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมคณะกรรมการเฉพาะเรื่องที่คณะกรรมการ ปตท. แต่งตั้งเท่ากับอัตราเดิม ดังนี้

2.1 คณะกรรมการตรวจสอบ
  • ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 15,000 บาท เท่ากับอัตราเดิม โดยประธานกรรมการได้รับเท่ากับกรรมการ
  • เบี้ยประชุม ครั้งละ 45,000 บาท เฉพาะกรรมการที่เข้าประชุม โดยประธานกรรมการได้รับมากกว่ากรรมการร้อยละ 25 และเลขานุการฯ ได้รับค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 7,500 บาท (คงเดิม)

2.2 สำหรับคณะกรรมการอื่น คือ คณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร และคณะกรรมการชุดย่อยอื่น ที่อาจมีการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทตามความจำเป็นและเหมาะสมในอนาคต กำหนดค่าตอบแทน เท่ากับอัตราเดิม ดังนี้

  • ค่าตอบแทนรายเดือนไม่มีเช่นเดิม
  • เบี้ยประชุม ครั้งละ 30,000 บาท เฉพาะกรรมการที่เข้าประชุม โดยประธานกรรมการได้รับมากกว่ากรรมการร้อยละ 25

2.3 ผลประโยชน์อื่นใด ไม่มี เช่นเดิม

3) เงินโบนัสคณะกรรมการ ปตท. ประจำปี 2566

กำหนดค่าตอบแทนที่เป็นเงินโบนัสกรรมการ ประจำปี 2566 ตามผลประกอบการหรือกำไรสุทธิของ ปตท. เป็นอัตราเงินโบนัสเท่ากับร้อยละ 0.05 ของกำไรสุทธิ ประจำปี 2566 และให้คำนวณจ่ายตามระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ภายในวงเงินไม่เกิน 60,000,000 บาท ทั้งคณะ โดยประธานคณะกรรมการ ปตท. จะได้รับโบนัสสูงกว่ากรรมการ ในอัตราร้อยละ 25 (จ่ายตามนโยบายเดิม)

ทั้งนี้ได้เปิดเผยค่าตอบแทนที่กรรมการได้รับเป็นรายบุคคล ปี 2566 ไว้ในหัวข้อ 8 รายงานผลการดำเนินงานสำคัญด้านการกำกับดูแลกิจการ เรื่อง การจ่ายค่าตอบแทนคณะกรรมการ ปตท.ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2566 (แบบ 56-1 One Report)

นโยบายการกำหนดค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่GRI2-19
สำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน ปตท. จะเป็นผู้พิจารณากำหนดค่าตอบแทนให้สะท้อนถึงผลการปฏิบัติงาน (Performance Management) ตลอดจนแนวปฏิบัติและมาตรฐานของกลุ่มธุรกิจชั้นนำประเภทเดียวกันภายใต้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรม ซึ่งอัตราการขึ้นเงินเดือนและอัตราค่าตอบแทนพิเศษประจำปีจะสอดคล้องกับผลการประเมินคะแนน KPIs และผลการปฏิบัติงานในปัจจุบัน (ระยะสั้น) และผลการปฏิบัติงานตามกลยุทธ์ในระยะยาวของ ปตท. อันเป็นการแสดงถึงวิสัยทัศน์และการสร้างมูลค่าเพิ่ม/ ขีดความสามารถให้กับองค์กรในระยะยาว โดยมีการนำเสนอหลักการและจำนวนค่าตอบแทนที่เหมาะสมต่อคณะกรรมการ ปตท. เพื่อพิจารณาและอนุมัติ ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญในการพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ปัจจัยที่ 1 ผลการดำเนินงานตามระบบการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Assessment Model: SE-AM) ปัจจัยที่ 2 ผลการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ที่นำเสนอต่อคณะกรรมการ ปตท. ปัจจัยที่ 3 ความสามารถในการบริหารจัดการและภาวะผู้นำ และปัจจัยที่ 4 การประเมิน 360 องศา

นโยบายการกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงGRI2-19
ค่าตอบแทนผู้บริหาร เป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ปตท. กำหนด ซึ่งเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของ ปตท. ตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (Performance Agreement: PA) กำหนดโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารทุกระดับร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดและตั้งค่าเป้าหมาย (Key Performance Indicators: KPIs) เกี่ยวกับผลปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ในแต่ละปี และผลตามวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะยาว ซึ่งตัวชี้วัดดังกล่าวครอบคลุมตามมุมมอง Balance Scorecard ได้แก่ มุมมองทางการเงิน มุมมองด้านลูกค้า มุมมองด้านกระบวนการภายใน มุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนา มุมมองด้านผลิตภัณฑ์ และมุมมองด้านบุคลากร เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจและนำไปใช้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารทุกระดับ

จำนวนผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ตามนิยาม ก.ล.ต. มีจำนวน 5 รายตามตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ปธบ./ กผญ.) ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน  ซึ่งไม่รวมผู้บริหารระดับสูงที่ไปปฏิบัติงานในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น ที่มาปฏิบัติงานที่ ปตท. โดยจะได้รับค่าตอบแทนจาก ปตท.ตามรายละเอียด ดังนี้

รายได้คงที่และผันแปรตาม

ปตท. มีการจ่ายเงินเดือนพนักงานเดือนละ 1 ครั้ง โดยอัตราเงินเดือนเป็นไปตามโครงสร้างเงินเดือนซึ่งแบ่งตามค่างานแต่ละระดับงาน โดยการกำหนดโครงสร้างเงินเดือนของแต่ละระดับงานสอดคล้องกับภาระหน้าที่ของผู้บริหารและพนักงานในแต่ละระดับ โดยมีการพิจารณาเทียบเคียงค่าตอบแทนรวมของผู้บริหารและพนักงานกับคู่เทียบของ ปตท. เพื่อให้โครงสร้างเงินเดือนอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ ปตท.  จะมีการพิจารณาขึ้นเงินเดือนพนักงานตามผลประเมิน KPIs รายบุคคล ปีละ 1 ครั้ง

ปตท. พิจารณาจ่ายผลตอบแทนจูงใจให้ผู้บริหารและพนักงานในรูปแบบโบนัสประจำปี โดย ปตท. จะนำเสนอคณะกรรมการ ปตท. เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณา เช่น  ผลประกอบการของ ปตท. ในปีนั้น ๆผลสำเร็จของงานที่ ปตท. ได้ดำเนินการ อัตราเงินเฟ้อ ข้อมูลสำรวจตลาดโดยดูอัตราการจ่ายโบนัสของบริษัทคู่เทียบทั้งตลาด Oil & Gas ะมาประกอบ โดยในระดับผู้บริหารและพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งบังคับบัญชา ปตท. ยังกำหนดให้มี Variable Bonus ซึ่งสอดคล้องตามผลการประเมิน KPIs รายบุคคล เพื่อจูงใจให้ปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายขององค์กร

กฎการเรียกคืนโบนัสของผู้บริหาร (Clawback Provision) ของบริษัทฯ นั้นเป็นไปตามมาตรา 85 ของพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และมาตรา 89/7 และ 281/2 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมในพ.ศ. 2551 โดยกฎหมายนี้ได้กำหนดให้ ในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับบริษัทฯ และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ในกรณีที่พบว่าผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต บริษัทฯ สามารถเรียกค่าเสียหายและประโยชน์ที่ได้รับ (การเรียกคืนโบนัส) จากผู้บริหาร โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานของผู้บริหารซึ่งไม่ตรงตามเงื่อนไขกฎเกณฑ์ของบริษัทฯ และผู้บริหารอาจต้องรับผิดทั้งโทษทางแพ่งและอาญา

ผลประโยชน์หลังเกษียณ

นอกจากเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานที่ ปตท. จ่ายให้ผู้บริหารและพนักงานเมื่อครบเกษียณอายุในอัตราตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) แล้ว ปตท. เห็นความสำคัญและสนับสนุนให้ผู้บริหารและพนักงานมีการวางแผนทางการเงิน จึงมีการกำหนดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้มีเงินออมที่เพียงพอใช้จ่ายภายหลังจากเกษียณอายุ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลในครอบครัว ในด้านการดูแลรักษาสุขภาพ ภายหลังเกษียณอายุ ปตท. มีการกำหนดให้ผู้บริหาร พนักงาน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิเข้ารับการบริการตรวจและรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของ ปตท. โดยพนักงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

กระบวนการในการกำหนดค่าตอบแทนคณะกรรมการ และผลการดำเนินงานGRI 2-20

ค่าตอบแทนกรรมการมีการเปิดเผยเป็นรายบุคคล และค่าตอบแทนผู้บริหารมีการเปิดเผยเป็นยอดรวม และมีการทวนสอบข้อมูลโดยผู้สอบบัญชีและกรรมการตรวจสอบของบริษัท เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้

กระบวนการในการกำหนดค่าตอบแทนรวมของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. และผลการดำเนินงานGRI 2-20

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. (CEO) เสนอผลการปฏิบัติงานประจำปีต่อคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนเพื่อพิจารณา จากนั้นคณะกรรมการจะกำหนดค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ตามผลการปฏิบัติงานทั้งทางด้านการเงิน และไม่ใช่ทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์เหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ไม่เปิดเผยหลักเกณฑ์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานถูกกำหนดให้ครอบคลุมเป้าหมายที่ท้าทายตามกลยุทธ์ระยะ สั้นและระยะยาวของบริษัท ซึ่งรวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีความเป็นอิสระในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้รัฐบาลไทย โดยใช้รูปแบบการประเมินรัฐวิสาหกิจ (SE-AM) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจกำหนด ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังเพื่อติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของบริษัท ดังนั้น การประเมินค่าตอบแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ จะใช้ 4 เกณฑ์ คือ SE-AM KPI (30%) ผลการปฏิบัติงานตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่นำเสนอ ต่อคณะกรรมการ ปตท. (30%) ความสามารถในการบริหารจัดการและภาวะผู้นำ (30%) และการประเมิน 360 องศา (10%)

ตัวชี้วัดผลตอบแทนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนของ CEO  คือ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (ROIC)

นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของ CEO ยังเน้นที่กลยุทธ์ 4R ได้แก่ Resilience, Reenergize, Reimagination, and Reform โดยเฉพาะ Reimagination ที่เน้นการขยายธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งธุรกิจพลังงานที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเช่น ธุรกิจ LNG ธุรกิจไฟฟ้า และการเร่งพัฒนาและขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ที่นอกเหนือธุรกิจไฮโดรคาร์บอน ทั้งกลุ่มธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) และนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Beyond)

คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนจะพิจารณาผลการดำเนินงานทางการเงินของกลุ่ม ปตท. โดยเปรียบเทียบ ROIC ของกลุ่ม ปตท. กับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยผลการประเมินประสิทธิภาพ ROIC สอดคล้องกับค่าตอบแทนของ CEO เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างค่าตอบแทนของ ปตท. มีความเหมาะสมและสามารถแข่งขันได้

ROIC of PTT Group : ปี 2560-2565





ค่าตอบแทนรวมของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ปี 2566 (หน่วย : บาท)

ค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ปี 2566
จำนวนเงิน
ค่าตอบแทนรวม 34,ุ618,560
โบนัส 17,378,021
รวม 51,996,581

หมายเหตุ: ค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในส่วนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่รวมค่าตอบแทนที่ ปตท. จ่ายให้เนื่องจากปฏิบัติงานเพิ่มเติม ได้แก่ การเป็นประธานกรรมการ และหรือกรรมการบริษัทในกลุ่ม ปตท. ตามที่ได้รับ  
               มอบหมาย โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาจ้างบริหาร ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เรียบร้อยแล้ว

กระบวนการในการกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูง และผลการดำเนินงานGRI 2-20

ในปี 2566 KPIs ขององค์กรที่ถ่ายทอดลงมายังผู้บริหารและพนักงาน ครอบคลุมการจัดการผลกระทบขององค์กรที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยกำหนด KPIs ที่มีวัตถุประสงค์ในการผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์และบริการของ ปตท. และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่ม ปตท.

ปตท. กำหนดค่าตอบแทนผู้บริหารและพนักงานที่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้นและในระยะยาวผ่านการบริหารผลการดำเนินงาน (Performance Management) ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อผลักดันให้ผลการปฏิบัติงานขององค์กรบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ และสอดคล้องกับการวัดผลการดำเนินงานตามระบบการประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงเป้าหมายผลการดำเนินงานในระดับองค์กร ระดับหน่วยงาน และระดับบุคคลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับทิศทางกลยุทธ์ของ ปตท. เพื่อผลักดันให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายตามแผนธุรกิจของ ปตท.

การพิจารณาผลการดำเนินงานผู้บริหารและพนักงานจะเป็นไปตามผลการดำเนินงานรายบุคคล โดยกำหนดปีละ 1 ครั้ง โดยได้นำตัวชี้วัดผลการดำเนินงานที่สำคัญ (Key Performance Indicators – KPIs) มาใช้ในการบริหาร ประเมินผลการดำเนินงานรายบุคคล และการพิจารณาค่าตอบแทนผู้บริหารและพนักงาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานระดับองค์กร (Corporate KPI) และ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานระดับธุรกิจ/ ระดับปฏิบัติการ/ ระดับบุคคล (Functional KPI) ซึ่งการกำหนด KPIs รายบุคคล ต้องเชื่อมโยงกับมุมมองตาม Balanced Score Card ทั้ง 4 มุมมอง ได้แก่ มุมมองทางการเงิน มุมมองด้านลูกค้า มุมมองด้านกระบวนการภายใน และมุมมองด้านการเรียนรู้และพัฒนา โดย ปตท. ได้เพิ่มเติมมุมมองที่สำคัญอีก 2 มุมมอง ได้แก่ มุมมองด้านผลิตภัณฑ์ และมุมมองด้านบุคลากร เพื่อให้สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงานในปัจจุบัน (ระยะสั้น) และแผนกลยุทธ์ของ ปตท. ที่จะดำเนินการในระยะยาว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างยั่งยืน

กระบวนการประเมินผล และการกำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูง (ผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ขึ้นไป) ผู้บริหารสูงสุดจะเป็นผู้ประเมินผลและกำหนดค่าตอบแทน โดยหลังจากที่ ผู้บริหารสูงสุดประเมินผลและกำหนดค่าตอบแทนแล้ว จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน ปตท. รับทราบ และจะมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานเป็นประจำทุก 6 เดือน

ค่าตอบแทนผู้บริหาร

ฝ่ายจัดการมีหน้าที่ดำเนินกิจการและบริหารงานของบริษัทโดยรวม มีประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้บริหารสูงสุด มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารบริษัทตามแผนงานหรืองบประมาณตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. อย่างเคร่งครัด ซื่อสัตย์ สุจริต รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างดีที่สุด ฝ่ายจัดการใช้อำนาจในการบริหารจัดการผ่านคณะกรรมการจัดการของ ปตท. (PTT Management Committee: PTTMC) และมีคณะกรรมการระดับจัดการชุดอื่น ๆ อีก 50  คณะ ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาและจัดการเรื่องภายในบริษัทให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การพิจารณาค่าตอบแทนฝ่ายจัดการเป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ปตท. กำหนด ประกอบด้วยการพิจารณาผลการดำเนินงานของ ปตท. ตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (SE-AM KPIs) กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง และตัวชี้วัดองค์กร (Corporate KPIs) ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลอย่างครบถ้วน โดยฝ่ายจัดการทุกระดับจะกำหนดตัวชี้วัดและตั้งเป้าหมายระดับกลุ่ม ปตท. ร่วมกันในแต่ละปี เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจและนำไปใช้ประเมินผลการปฏิบัติงาน  โดยในปี 2566 มีตัวชี้วัดที่เชื่อมโยงกับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ได้แก่ GHG emissions, Safety Management Effectiveness, Employee Engagement Score และ Non-Compliance


ค่าตอบแทนรวมของผู้บริหาร ปตท. ตามนิยาม ก.ล.ต. (จำนวน 4 ราย) ปี 2566  (หน่วย : บาท)

ค่าตอบแทนจำนวนราย
ตามตำแหน่ง (ราย)
จำนวนเงิน
(บาท)
เงินเดือนรวม 4 34,618,560
โบนัสรวม 4 17,378,021
รวม 51,996,581

หมายเหตุ 1:
หมายเหตุ 2:

สัดส่วนค่าตอบแทนรวมของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ต่อค่ากึ่งกลาง (Median) ของค่าตอบแทนพนักงาน (เฉพาะพนักงาน ปตท. ไม่รวมพนักงาน secondment in และ assignment in ) เท่ากับ 29.60:1
สัดส่วนค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นรวมของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ต่อค่ากึ่งกลาง (Median) ของค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นของพนักงาน (เฉพาะพนักงาน ปตท. ไม่รวมพนักงาน secondment in และ assignment in ) เท่ากับ 1.97:1