ความยั่งยืน

การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ความยั่งยืน

การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
 





นโยบายและทิศทางกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย GRI 2-29

ความสำเร็จของ ปตท. ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราจึงมุ่งมั่นดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สังคมชุมชน ผู้ลงทุน ลูกค้า คู่ค้าและคู่ความร่วมมือ กรรมการและพนักงาน เพื่อสร้างพลังให้เกิดความร่วมมือก้าวผ่านทุกความท้าทายและร่วมเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ซึ่ง ปตท. ได้ทบทวนยุทธศาสตร์การบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยวิสัยทัศน์การบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ปี 2568 คือ “เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจของคนไทย ดูแลผู้มีส่วนด้ส่วนเสียอย่างสมดุล สู่การเติบโตในสังคมโลกอย่างยั่งยืน” เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ License to Operate หรือเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

ปตท. มีทิศทางกลยุทธ์การบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ “เข้าใจ เข้าถึง พึ่งพากัน”  โดย “เข้าใจ” เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการสื่อสาร “เข้าถึง” เป็นการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและผลักดันสู่การปฏิบัติโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกการดำเนินงาน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และ “พึ่งพากัน” เป็นการพัฒนาเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งมีขอบเขตครอบคลุมถึง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 6 กลุ่ม ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจที่ ปตท. ดำเนินการเอง และร่วมทุน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในพื้นที่ปฏิบัติงานของกลุ่ม ปตท. และรอบสถานประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ที่บริหารจัดการเอง และไม่ได้บริหารจัดการเอง

ปตท. มุ่งมั่นสร้างความสัมพันธ์ ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินงานขององค์กร ควบคู่กับการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

กระบวนการบริหารความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ปตท. เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของ ปตท. ในประเด็นสำคัญ รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการ ความคาดหวังและข้อกังวลอย่างเหมาะสมและทันท่วงที โดยกระบวนการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ ปตท. เป็นไปตามมาตรฐานสากล อ้างอิงหลักการกระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย AA1000 Stakeholder Engagement Standard 2015 (AA1000 SES) และเกณฑ์ประเมินการมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า ตามหลักเกณฑ์การประเมินกระบวนการปฏิบัติงานและการจัดการ Enablers ของรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Assessment Model: SE-AM) เพื่อให้การดำเนินการเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของ ปตท. ควบคู่ไปกับการได้รับความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยผู้ที่มีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย

  1. ผู้รับผิดชอบระดับองค์กร (ฝ่ายบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) เป็นผู้จัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงกำกับดูแลกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ขององค์กร
  2. ผู้รับผิดชอบระดับสายงาน เป็นผู้นำนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร ไปถ่ายทอดเพื่อให้ผู้รับผิดชอบระดับหน่วยงานไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และสรุปแผนสร้างความสัมพันธ์ในระดับสายงาน
  3. ผู้รับผิดชอบระดับหน่วยงาน เป็นผู้จัดทำแผนสร้างความสัมพันธ์และกำหนดตัวชี้วัดผลผลิต (Leading KSI) /ตัวชี้วัดผลลัพธ์ (Lagging KSI) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ดูแล ติดตามและประเมินผลการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ การติดตามและรายงานผลการดำเนินงานจะมีทั้งระดับองค์กรและสายงาน โดยเป็นการรายงานผล ทุกไตรมาส ตั้งแต่ การรายงานผลการสร้างความสัมพันธ์ของสายงานให้กับผู้บริหารระดับสูงของสายงานรับทราบ  การรายงานประเด็นที่ติดตามระดับองค์กรผ่านคณะกรรมการแผนวิสาหกิจและบริหารความเสี่ยง (CPRC) ซึ่งเป็นคณะในระดับจัดการ และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร (ERMC) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัทชุดย่อย เพื่อกลั่นกรองให้ข้อคิดเห็นและให้ความเห็นชอบ

การจำแนกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ ปตท.GRI 2-29

กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ ปตท. คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งในเชิงบวกและลบจากการดำเนินธุรกิจของ ปตท. หรือผู้ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต โดยสามารถจำแนกกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็น 6 กลุ่มหลัก ได้แก่

  • หน่วยงานภาครัฐ หมายถึง หน่วยงานภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบายหรือกำกับดูแล รัฐวิสาหกิจ ศาล และองค์กรอิสระ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา องค์การระหว่างประเทศ
  • สังคมชุมชน หมายถึง ชุมชนรอบสถานประกอบการ ปตท. ประชาชนทั่วไป เยาวชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน นักการเมืองท้องถิ่น และ องค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ (NGO)
  • ผู้ลงทุน หมายถึง ผู้ถือหุ้นสามัญ ผู้ถือหุ้นกู้ นิติบุคคลและนักลงทุนรายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
  • ลูกค้า หมายถึง ลูกค้าภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และลูกค้าราชการ
  • คู่ค้าและคู่ความร่วมมือ หมายถึง คู่ค้า ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมือ และพันธมิตรทางธุรกิจ
  • กรรมการและพนักงาน หมายถึง กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ปตท.
กระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปตท.

ปตท. รวบรวมและระบุประเด็น ความต้องการ ความคาดหวัง ข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของหน่วยธุรกิจและสายงานสนับสนุนตามโครงสร้างขององค์กร รวม 16 สายงาน เพื่อให้สามารถระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร แล้วจึงนำมาระบุประเด็น ความต้องการ ความคาดหวัง ข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มได้อย่างครบถ้วน โดยสายงานจะนำกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประเด็นในระดับองค์กร มาใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประเด็นของสายงาน นอกจากนี้ ยังมีการนำข้อมูลต่าง ๆ มาพิจารณาเพิ่มเติม ได้แก่

  • บทวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางของโลก
  • ทิศทางกลยุทธ์องค์กรและแผนธุรกิจประจำปี
  • ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนจากการประเมินผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คนและสิทธิมนุษยชน
  • ผลการสำรวจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีการสำรวจอย่างน้อยปีละครั้ง
  • ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร (Enterprise Risk Management Committee: ERMC)

จากผลการวิเคราะห์ประเด็น ความต้องการ ความคาดหวัง ข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผลวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของแต่ละสายงานจะนำมาจัดทำแผนสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยกำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขต ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเด็น ตัวชี้วัดที่ชัดเจน และรายงานความก้าวหน้าการบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อผู้บริหารสูงสุดของสายงาน ทุกไตรมาส เพื่อทบทวนและนำข้อเสนอแนะไปพัฒนาปรับปรุงภายในสายงานต่อไป รวมถึง การสรุปภาพรวมของประเด็นสำคัญที่จะมีการติดตามระดับองค์กร เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้แก่คณะกรรมการแผนวิสาหกิจและบริหารความเสี่ยง (CPRC) และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร (ERMC) ซึ่งเป็นคณะกรรมการเฉพาะเรื่องในคณะกรรมการ ปตท. เป็นรายไตรมาส โดยในปี 2568 มีประเด็นสำคัญในระดับองค์กรทั้งหมด 9 ประเด็น  ซึ่งมาจากความต้องการความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีการนำมาปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง  ได้แก่

  1. Brand & Trust หมายถึง การดำเนินงานเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ความเข้าใจ และความเชื่อมั่นที่มีต่อแบรนด์ ปตท. ทั้งในภาพองค์กร ผลิตภัณฑ์ และบริการขององค์กร รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม และประเทศ
  2. Climate Change หมายถึง การให้ข้อมูลแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  3. Compliance and Transparency การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่มีการประกาศและบังคับใช้แล้ว การเปิดเผยข้อมูล ทั้งแง่บวกหรือโปร่งใสและชัดเจนในการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักธรรมาภิบาล รวมถึง การรักษาความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  4. Financial Performance หมายถึง การดำเนินงานที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านผลประกอบการทางการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน การดำเนินงานด้านบัญชี ภาษี และการเติบโตในระยะยาว
  5. Hydrocarbon & Power หมายถึง การดำเนินงานครอบคลุมการผลักดันนโยบาย/กฎระเบียบภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การเจรจาสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อการลงทุน ตลอดจนการเข้าร่วมสมาคมที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเครือข่ายและหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจ Upstream & Power ได้แก่ ธุรกิจสำรวจและผลิต ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และกลุ่มธุรกิจ Downstream ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
  6. Non-Hydrocarbon & New Business หมายถึง การดำเนินงานครอบคลุมการผลักดันนโยบาย/กฎระเบียบภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การเจรจาสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อการลงทุน ตลอดจนการเข้าร่วมสมาคมที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเครือข่ายและหาโอกาสทางธุรกิจร่วมกับบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มธุรกิจ Electric Vehicle, Life Science, Logistics, Industrial AI, New S-Curve & New Business, Hydrogen & Carbon Business Integration, CCS/CCUS และ Nuclear
  7. Organization & Employee หมายถึง การพัฒนาศักยภาพองค์กร โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนงานองค์กรและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และการพัฒนาศักยภาพพนักงานให้มีความรู้ความสามารถและทักษะตามแนวทางที่องค์กรและพนักงานคาดหวัง เช่น Upskill & Reskill การศึกษาดูงาน รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
  8. Safety, Health & Environment หมายถึง การดำเนินงานหรือสภาพแวดล้อมการทำงานที่คำนึงถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
  9. Supplier & Customer Experience หมายถึง การสร้างประสบการณ์ที่ดีร่วมกันระหว่างองค์กรกับคู่ค้าหรือลูกค้า เพื่อให้เกิดความประทับใจในการร่วมธุรกิจ หรือซื้อขายสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม ส่งมอบเป็นไปตามที่ตกลงกัน

ผลการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของแต่ละสายงาน ประจำปี 2568 สามารถสรุปได้ดังนี้


แนวทางการสร้างความสัมพันธ์ที่สำคัญ GRI 2-29

ปตท. มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกประเด็นที่สำคัญที่ติดตามระดับองค์กร จากการวิเคราะห์และประมวลผลคะแนนจากการจัดลำดับความสำคัญประเด็นของ 16 สายงาน (Bottom-up) และการวิเคราะห์ในมุมมองขององค์กร (Top-down) ซึ่งพิจารณาจากความสอดคล้องของประเด็นองค์กร กับข้อมูลภายในและภายนอก อาทิ กระแสโลก นโยบายภาครัฐ แผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ ทิศทางกลยุทธ์องค์กรและความต้องการความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สรุปมีประเด็นสำคัญที่ติดตามระดับองค์กรทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่ 1) Climate Change 2) Hydrocarbon & Power 3) Non-Hydrocarbon & New Business 4) Brand & Trust และมีแผนสร้างความสัมพันธ์ในแต่ละประเด็น ตัวอย่างเช่น ประเด็น Climate Change ซึ่ง ปตท. เน้นยํ้าเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจ เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างสมดุล โดยแผนการสร้างสมดุล Environment, Social และ Governance (ESG) ให้เหมาะสมกับบริบทองค์กร ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2583 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 ผ่านการผลักดันธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฮโดรเจน และการดำเนินโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Storage : CCS)  โดยบูรณาการการทำงานและกำหนดเป้าหมายร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. มีการกำหนดบทบาทชัดเจนและมีเป้าหมายร่วมกัน และใช้จุดแข็งของแต่ละบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมี ปตท. เป็นผู้กำกับดูแลภาพรวมผ่านแนวทาง C3 ได้แก่

(1) Climate Resilience Business: เน้นลงทุนในธุรกิจปรับ Portfolio การลงทุน ดำเนินธุรกิจ คาร์บอนต่ำ 
(2) Carbon-Conscious Asset: ปรับปรุง Asset ที่มีอยู่ให้ลดคาร์บอน ด้วยการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานที่สะอาด เช่น Hydrogen รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น การทำ Smart Plant
(3) Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All: ร่วมกับภาครัฐและพันธมิตรทางธุรกิจในการผลักดันการลงทุนเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) ให้เกิดขึ้น รวมถึงการปลูกป่าเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอน

ทั้งนี้ ปตท. เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในพื้นที่ใกล้ฝั่งทะเลภาคตะวันออก ปริมาณดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 6 ล้านตันต่อปี โดยมีแผนเริ่มดำเนินการโครงการได้ภายในปี 2573 และยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสม 5% ในท่อส่งก๊าซเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในปี 2573 อีกทั้ง ศึกษาความเป็นไปได้โอกาสในการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต

นอกจากนี้  ปตท. ได้เพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า  โดยกำหนดแผนปลูกป่าบกและป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 และบำรุงรักษาป่า 1 ล้านไร่ จากโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ดำเนินการตั้งแต่
ปี 2537 ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ได้ขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการของเสีย ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สะท้อนการบูรณาการทุกภาคส่วน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ในการร่วมลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม

ผลการสร้างความสัมพันธ์ที่สำคัญ

ในปี 2567 มีรายละเอียดของผลการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนี้

ผลการสร้างความผูกพันผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย


คะแนนความผูกพันผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย



ผลสัมฤทธิ์ของการบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพิจารณาจากคะแนนความผูกพันผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยกำหนดเป้าหมายในระดับดีมาก (≥80) โดยผลคะแนนปี 2567 เท่ากับ 83 คะแนน  ซึ่งสูงกว่าค่าเป้าหมาย สะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของ ปตท. ที่สามารถตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ในระดับดีมาก