ความยั่งยืน

กลยุทธ์และระบบการบริหารจัดการความยั่งยืน ปตท.

ความยั่งยืน

กลยุทธ์และระบบการบริหารจัดการความยั่งยืน ปตท.

การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
     




 

กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน

กรอบกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ปตท. GRI 2-22, GRI 11.2

ปตท. ตระหนักและเล็งเห็นถึงความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง กระแสของโลกในอนาคต (Megatrend และ Energy Outlook) จึงได้นำมาเป็นปัจจัยป้อนเข้าที่สำคัญในการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสะท้อนอยู่ใน วิสัยทัศน์ กรอบกลยุทธ์ ตลอดจนแผนธุรกิจของบริษัทที่ชัดเจน

ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ขององค์กร “Powering Life with Future Energy and Beyond” ปตท. มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนธุรกิจ (Business Diversification) ไปสู่การเติบโตในธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน สอดรับกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลง กระแสของโลกในอนาคต (Megatrend และ Energy Outlook) รวมทั้งปัจจัยความเสี่ยงและโอกาสที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะมีทั้งการลงทุนใน

  • Future Energy หรือธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน ห่วงโซ่อุปทานของรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงศึกษาโอกาสในไฮโดรเจน
  • Beyond หรือนอกเหนือธุรกิจพลังงาน ได้แก่
    • วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life science) เช่น ธุรกิจยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารเพื่อสุขภาพ 
    • เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business)
    • ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนที่และวิถีชีวิต (Mobility & Lifestyle) ซึ่งรวมถึงธุรกิจค้าปลีก Non-oil
    • ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน
    • ธุรกิจ AI หุ่นยนต์ และดิจิทัล
และเพื่อขับเคลื่อนการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ปตท. ได้กำหนดกรอบกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจขององค์กรซึ่งสอดรับกับ Aspiration “PTT by PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation”


ในการเป็นองค์กรด้านพลังงานที่เป็นแรงขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นทิศทางการดำเนินธุรกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ Partnership & Platform, Technology for All และ Transparency & Sustainability อีกทั้งกำหนดเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ใหม่ที่จะบรรลุภายในปี 2030  สะท้อนความมุ่งมั่นในการลดกระทบ(Mitigation) และความสามารถในการเตรียมพร้อมและปรับตัว (Resilience & Adaptation) ต่อปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้  

Business Growth: ปรับพอร์ตการลงทุนธุรกิจพลังงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
  • LNG: เพิ่มปริมาณการค้า LNG ใน Portfolio เป็น 9 ล้านตัน/ปี
  • Power (Conventional): เพิ่มการลงทุนในกำลังผลิตไฟฟ้า Conventional เช่น Gas-to-Power เป็น 8 GW
  • Renewables: เพิ่มการลงในกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 12 GW
New Growth: เพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจกลุ่ม Future Energy & Beyond ให้ไม่ต่ำกว่า 30%
Clean Growth: ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กลุ่ม ปตท. ลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2563 อีกทั้งประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของ ปตท. ในปี 2583 และมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 

โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงาน “4R” ประกอบไปด้วย

  1. Resilience สร้างความยืดหยุ่นพร้อมดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รักษาสภาพคล่อง สร้างความปลอดภัยและความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน (Operation Excellence) ส่งเสริมพลังร่วมและบริหารจัดการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การสนับสนุนให้พนักงานมีความคล่องตัวและเตรียมพร้อมรับมือในสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและจัดการวิกฤต
  2. Reenergize เสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจปัจจุบัน สร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ปรับ Portfolio รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานจากไฮโดรคาร์บอน และลดการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินธุรกิจที่มีอยู่
  3. Reimagination ริเริ่มขยายธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งธุรกิจพลังงานที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเช่น LNG ไฟฟ้า และการเร่งพัฒนาและขยายธุรกิจรูปแบบใหม่ที่นอกเหนือธุรกิจไฮโดรคาร์บอน ทั้งกลุ่มธุรกิจพลังงานอนาคต (Future Energy) และนอกเหนือธุรกิจพลังงาน (Beyond)
  4. Reform พิจารณาปรับเปลี่ยนโดยจัดโครงสร้างองค์กรหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต พร้อมรองรับทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น

กรอบกลยุทธ์ทั้งหมดได้ถูกถ่ายทอดไปในแผนธุรกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทในกลุ่ม ปตท. มีการกำหนดผู้รับผิดชอบ แผนการดำเนินงาน ตลอดจนกลไกและวิธีการที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของ ปตท. เช่น โครงสร้างกำกับดูแล การกำหนดเป็นตัวชี้วัดต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันการดำเนินงานไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและเป็นระบบ

ทิศทางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนGRI 2-22

ภายใต้ปณิธาน PTT by PTT (Powering Thailand’s Transformation by Partnership & Platform, Technology for All, Transparency & Sustainability) ในส่วนของ Transparency & Sustainability ปตท. มุ่งเน้นการสร้างความโปร่งใสและพัฒนาธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ปตท. ได้กำหนด “ทิศทางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน” ไว้ใน “แผนแม่บทการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปตท. ประจำปี 2564-2568” ประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ซึ่งมีการกำหนดตัวชี้วัด เป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งสนับสนุน SDGs ดังนี้


การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปี 2564 ปตท. ทบทวนลำดับความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นหนึ่งในปัจจัยป้อนเข้าในการกำหนดทิศทางกลยุทธ์และแผนวิสาหกิจขององค์กร ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำคัญ โดยมีกระบวนการทบทวน 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. สำรวจปัจจัยภายในและภายนอกองค์กรที่สำคัญ ประกอบด้วย วิสัยทัศน์และทิศทางกลยุทธ์ใหม่ขององค์กร ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร นโยบาย ทิศทางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน นโยบาย เป้าหมาย แผนการดำเนินงาน ตลอดจนแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนระดับโลกต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 
  2. จัดลำดับความสำคัญและระดับการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอ้างอิงจากคู่มือการดำเนินงานที่เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล เช่น คู่มือ SDG Ambition Integration Guide และคู่มือ SDG Compass ของ UN Global Compact คู่มือ Mapping the Oil and Gas Industry to the SDGs: An Atlas ของ IPIECA คู่มือ SDG Sector Roadmaps ของ WBCSD และคู่มือ Accelerating Action: An SDG Roadmap for the Oil and Gas Sector ของ IPIECA ร่วมกับ WBCSD เป็นต้น ร่วมกับการพิจารณาความสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ปตท. นำมาจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เป้าหมายที่ต้องบูรณาการเข้าไปในกระบวนการดำเนินงานขององค์กร (Integrated into Core Business) 10 เป้าหมาย และเป้าหมายที่ควรดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายด้านความยั่งยืนหรือสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง (Collaborate with Other Stakeholders) 7 เป้าหมาย โดยมีเป้าหมายที่ 17 เป็นเป้าหมายที่เกื้อหนุนและสนับสนุนให้เป้าหมายอื่น ๆ บรรลุผลสำเร็จ
  3. ชี้แจงการจัดลำดับความสำคัญและแนวทางการดำเนินงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นกรอบในการพิจารณาจัดทำแผนวิสาหกิจ แผนงานและโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ตลอดจนแผนสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในส่วนที่รับผิดชอบ

 


โครงสร้างกำกับดูแลและนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

โครงสร้างการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนGRI 2-9, GRI 2-13

ปตท. กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน โดยระบุโครงสร้าง หน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน ทั้งในระดับคณะกรรมการบริษัท  ฝ่ายจัดการ  ผู้บริหาร รวมทั้งหน่วยงานภายใน เพื่อผลักดัน สนับสนุน ติดตาม และทบทวนการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนในภาพรวม ให้บรรลุตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดังภาพ โดยได้มีการรวบรวม วิเคราะห์ผลการดำเนินงานและรายงานผลการดำเนินงานตาม “แผนแม่บทการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปตท. ประจำปี 2564-2568” ต่อคณะกรรมการจัดการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร (GRCMC) และคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน (CGSC) รายไตรมาส และรายงานผลการดำเนินงาน และการทบทวนกระบวนการบริหารจัดการความยั่งยืน และแผนการบริหารจัดการความยั่งยืน ประจำปี ให้แก่คณะกรรมการ ปตท. อีกด้วย



ในการบริหารจัดการประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน แต่ละประเด็นจะมีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบชัดเจน รวมทั้งมีการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการ ทั้งในระดับจัดการและคณะกรรมการ ปตท. ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ กระบวนการและผลการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน

นโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบGRI 2-9, GRI 2-13

ปตท. ตระหนักและให้ความสำคัญยิ่งกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยได้แสดงความมุ่งมั่นไว้ในนโยบายหลากหลายฉบับ ดังนี้

  • นโยบายการบริหารจัดการความยั่งยืนของ ปตท. ลงนามโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยเจตนารมณ์ในการบริหารจัดการความยั่งยืนทั้ง 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล
  • นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงนามโดยประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีเจตนารมณ์ส่งเสริมให้ ปตท. เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ การกำกับดูแลกิจการและการบริหารจัดการที่ดีเลิศ โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรวม มีคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
  • คำแถลงด้านสิทธิมนุษยชน ลงนามโดย ลงนามโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

นอกจากนี้ ปตท. ยังมีการกำหนดนโยบายเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการประเด็นสำคัญในแต่ละประเด็นเพื่อความชัดเจนมากยิ่งขึ้นตามความเหมาะสม อาทิ

นโยบายทุกฉบับจะมีการกำหนดช่วงเวลาในการทบทวนเนื้อหาเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป

การกำกับดูแลบริษัทในกลุ่ม ปตท.GRI 2-24

ปตท. กำหนดนโยบายการกำกับดูแลแบบกลุ่ม ปตท. โดยจัดทำเป็นคู่มือ PTT Way และกำหนดแนวทางบริหารจัดการแบบกลุ่ม ปตท. (PTT Group Way of Conduct) ซึ่งเป็นการรวบรวมแนวทาง หลักปฏิบัติ และกระบวนการในการทำงานในมิติต่าง ๆ ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ให้มีความสอดคล้องและประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับดูแลบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น นำไปปฏิบัติและผลักดันให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตลอดทั้งกลุ่ม ปตท. ผ่านผู้แทน ปตท. ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการ ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้กลุ่ม ปตท. มีเอกภาพในการดำเนินงาน ก่อให้เกิดพลังร่วม เสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งในการแข่งขันในระดับสากลให้กับกลุ่ม ปตท. เพื่อให้กลุ่ม ปตท. เติบโตไปด้วยกันอย่างโปร่งใสและยั่งยืนต่อไป

กระบวนการและกลไกการบริหารจัดการสู่ความยั่งยื

กระบวนการบริหารจัดการความยั่งยืนGRI 2-24

ปตท. มุ่งมั่นบริหารจัดการด้านความยั่งยืนโดยบูรณาการเข้ากับการดำเนินงานธุรกิจและระบบงานทั่วทั้งองค์กรอย่างเป็นระบบ โดยมีกระบวนการหลักประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1. ขั้นตอนการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน/ภายนอก 
และประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน
  • วิเคราะห์ปัจจัยภายใน/ ภายนอก ที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ ปตท. และกลุ่ม ปตท. รวมทั้งบ่งชี้รายการประเด็น ความเสี่ยงและโอกาสด้านความยั่งยืน
  • รวบรวมประเด็นความคาดหวัง ความต้องการและข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อบ่งชี้และประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนขององค์กร 


2. ขั้นตอนการกำหนดนโยบาย กรอบการบริหารจัดการแผนแม่บท แผนกลยุทธ์ และแผนธุรกิจ
  • กำหนด/ ทบทวนนโยบาย ระบบการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน (PTT Sustainability Management System) รวมทั้งกระบวนการทำงาน (Work Process)
  • นำประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนเป็นปัจจัยป้อนเข้าในการกำหนดเป้าหมายระยะยาว ทิศทางกลยุทธ์ แผนวิสาหกิจ 5 ปี แผนบริหารความเสี่ยงขององค์กร
  • จัดทำทิศทางกลยุทธ์ และแผนแม่บทการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน รวมทั้งแผนปฏิบัติการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด
  • กำหนดตัวชี้วัดการดำเนินงานระดับองค์กร (Corporate KPI) และสายงาน (Functional KPI) ที่เกี่ยวข้อง


3. ขั้นตอนการนำไปปฏิบัติและติดตามผลการดำเนินงาน
  • กำหนดกระบวนการ/ วิธีการบริหารจัดการประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน
  • พัฒนาความรู้ความสามารถและเพิ่มความตระหนัก รวมทั้งพัฒนาระบบงานดิจิทัลด้านความยั่งยืน
  • ถ่ายทอดไปยังบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยกำหนดกลไก/ วิธีการบริหารจัดการประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ให้สอดคล้องกับ PTT Group Way of Conduct (PTT Group WoC)
  • ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผน ตัวชี้วัดการดำเนินงาน เป็นระยะ

4. ขั้นตอนการประเมินผลและการทบทวนโดยฝ่ายบริหาร
  • ประเมินผลการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนเพื่อเทียบเคียงสมรรถนะจากบุคคลภายนอก
  • ทบทวนประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการความยั่งยืน ปตท. และกลุ่ม ปตท. ตามกลยุทธ์ แผนวิสาหกิจ แผนปฏิบัติการ แผนงบประมาณ แผนบริหารความเสี่ยง และตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการตามโครงสร้างการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนและในแต่ละประเด็น เพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

5. ขั้นตอนการเปิดเผยข้อมูล
  • เปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการความยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร โดยดำเนินการตามมาตรฐาน และแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลตามที่องค์กรกำหนด เพื่อให้เข้าถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร

ทั้งนี้ ปตท. มีการสื่อสารให้พนักงานทุกคนทั่วทั้งองค์กร รับทราบและปฏิบัติตามนโยบายได้อย่างเคร่งครัด รวมถึงการอบรมให้พนักงานรับทราบอีกด้วย  นอกจากนั้น ปตท. มีการติดตามความก้าวหน้าของการปรับปรุงการดำเนินงานในการนำมาตรฐานการบริหารจัดการความยั่งยืนไปปฏิบัติของบริษัทในกลุ่ม ปตท. และสรุปรายงานผลต่อคณะกรรมการบริหารความยั่งยืน กลุ่ม ปตท. (PTT Group Sustainability Management Committee: GSMC) เป็นรายไตรมาส โดยมีการทวนสอบการดำเนินงานของบริษัท Flagships และบริษัทเป้าหมายผ่านการทำ Maturity Assessment อย่างน้อยทุก 3 ปี

มาตรฐานการบริหารจัดการความยั่งยืน ปตท. (PTT Sustainability Management Standard) GRI2-24

ในปี 2564 ปตท. ได้พิจารณาทบทวนและปรับปรุงกรอบการบริหารจัดการความยั่งยืนกลุ่ม ปตท. ฉบับปี 2559 เป็น “มาตรฐานการบริหารจัดการความยั่งยืน ปตท.” เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและสากลที่มีการพัฒนาปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ตลอดจนองค์กรสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพิ่มขึ้น เช่น ISO26000 แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม United Nation Global Compact (UNGC) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาตรฐานการรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) รวมทั้งเกณฑ์การประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (SE-AM) เป็นต้น ประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่


1. หลักการการบริหารจัดการความยั่งยืน ประกอบด้วย 7 หลักการ ได้แก่

  • ความรับผิดชอบ (Accountability) การกำกับดูแลองค์กรควบคู่กับการบริหารจัดการความเสี่ยงและโอกาส การบริหารประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน และกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล
  • ความโปร่งใส (Transparency) การเปิดเผยกิจกรรมขององค์กรที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยความชัดเจน ถูกต้อง ทันท่วงที และครบถ้วน
  • การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical behavior) การยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรมในการทำข้อตกลงใด ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้องค์กรอื่น ๆ และผู้บริโภคตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ
  • การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Respect for stakeholder interests) การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ตลอดจนการให้ข้อมูล
    ป้อนกลับอย่างครบถ้วน
  • การเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for rule of law) การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และข้อกำหนดต่าง ๆ และทบทวนการปฏิบัติตามกฎหมาย
  • การเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวทางของสากล (Respect for international norms of behavior) การเคารพต่อหลักนิติธรรม และหลีกเลี่ยงการร่วมกระทำผิดที่ไม่เป็นไปตามแนวทางของสากล
  • การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Rights) การปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบจากการดำเนินธุรกิจของ ปตท. 

2. ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ประกอบด้วย 7 ประเด็นหลัก ได้แก่
    1) ธรรมาภิบาล
    2) สิทธิมนุษยชน
    3) การปฏิบัติด้านแรงงาน
    4) สิ่งแวดล้อม
    5) การปฏิบัติที่เป็นธรรม
    6) ประเด็นด้านผู้บริโภค
    7) การมีส่วนร่วมของชุมชน และการพัฒนาชุมชน

3. กระบวนการบริหารจัดการความยั่งยืน ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่   

1) การกำกับดูแลและผู้นำองค์กร (Organizational Governance & Leadership)

  • การแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นขององค์กรที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านนโยบายที่ประกาศและสื่อสารโดยผู้บริหารสูงสุดขององค์กร
  • การกำหนดโครงสร้างและมอบหมายผู้รับผิดชอบ เพื่อให้มีการจัดทำกระบวนการบริหารจัดการความยั่งยืนขององค์กร
  • การทบทวนผลการดำเนินงานโดยผู้บริหาร เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการอย่างเหมาะสมและเกิดการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

2) การประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนและกำหนดกลยุทธ์ แผนแม่บท และเป้าหมาย (Materiality Assessment, Strategic Planning and Target Setting)

  • มีการชี้บ่งและสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อวิเคราะห์ความต้องการและความคาดหวัง
  • การวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญของประเด็นด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
  • การกำหนดกลยุทธ์ แผนบริหารความเสี่ยง แผนแม่บท ตัวชี้วัด และเป้าหมาย ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

3) การนำไปปฏิบัติ (Implementation)

  • การถ่ายทอดกลยุทธ์ แผนบริหารความเสี่ยง แผนแม่บท และเป้าหมายสู่การปฏิบัติให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • จัดทำแผนปฏิบัติการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สอดคล้องตามแผนแม่บท
  • สื่อสารการดำเนินงานให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้ร่วมมือในการดำเนินงาน

4) การติดตามผลการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูล (Monitoring and Reporting)

  • การติดตาม ตรวจประเมิน ทบทวน และปรับปรุงผลการดำเนินงานตามแผนแม่บท แผนงานและเป้าหมาย
  • การเปิดเผยผลการบริหารจัดการประเด็นสำคัญตามมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้รับทราบผลการดำเนินงาน
กระบวนการและผลการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน GRI 3-1, GRI 3-2

กระบวนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของ ปตท. ประยุกต์ตามมาตรฐานการรายงานด้านความยั่งยืนของ Global Reporting Initiatives (GRI) Universal Standards 2021 และกรอบการรายงานแบบบูรณาการของ International Integrated Reporting Council (IIRC) เพื่อระบุประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ที่มีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดขึ้นและมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญต่อการสร้างคุณค่าไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร โดยจะดำเนินการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนอย่างรอบด้านเป็นประจำทุกปี เพื่อทบทวนการเปลี่ยนแปลงของผลกระทบตามบริบท ปัจจัยภายใน/ ภายนอก และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีขั้นตอนหลัก ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1: ทำความเข้าใจบริบทขององค์กร
พิจารณาจากปัจจัยภายใน (เช่น วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ การดำเนินงานขององค์กร ฯลฯ) ปัจจัยภายนอก (เช่น มาตรฐาน ข้อกำหนด แนวปฏิบัติ แนวโน้มและความเสี่ยงของโลกที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ) และพิจารณาประเด็นสำคัญของ ปตท. บริษัทในกลุ่ม ปตท. และบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมควบคู่ด้วย ทั้งยังวิเคราะห์ประเด็นความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก 15 สายงานของ ปตท. รวมถึงผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักขององค์กร เพื่อรวบรวมและจัดกลุ่มประเด็นด้านความยั่งยืน

ขั้นตอนที่ 2: ระบุผลกระทบที่เกิดขึ้นและมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต
ระบุผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดขึ้นและมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรอบด้านจากประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจขององค์กร โดยเริ่มต้นจากการระบุผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นและมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งในมุมมองที่องค์กรก่อให้เกิด (Cause) มีส่วนร่วมทำให้เกิด (Contribute to) หรือเชื่อมโยงโดยตรงให้ได้ซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Directly Linked to) จากห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร หลังจากนั้นระบุผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นและมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตที่ส่งมอบคุณค่าไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบไม่สามารถนำมาชดเชยซึ่งกันและกันได้

ขั้นตอนที่ 3: ประเมินความสำคัญของผลกระทบ
ผลกระทบเชิงลบ: ประเมินความสำคัญของผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น (Actual Negative Impact) โดยพิจารณาจากความรุนแรง (Severity) ที่ครอบคลุมทั้งความร้ายแรง (Scale), ขอบเขต (Scope), และการฟื้นฟู (Irremediable Character) รวมถึงประเมินความสำคัญของผลกระทบเชิงลบที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต (Potential Negative Impact) โดยพิจารณาจากความรุนแรง (Severity) ข้างต้นและโอกาสการเกิด (Likelihood)
ผลกระทบเชิงบวก: ประเมินความสำคัญของผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้น (Actual Positive Impact) โดยพิจารณาจากขนาด (Scale) และขอบเขต (Scope) ของผลกระทบ รวมถึงประเมินความสำคัญของผลกระทบเชิงบวกที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต (Potential Positive Impact) โดยพิจารณาจากขนาด (Scale) และขอบเขต (Scope) ข้างต้น และโอกาสการเกิด (Likelihood)

ขั้นตอนที่ 4: จัดลำดับความสำคัญของผลกระทบเพื่อการรายงาน
จัดลำดับความสำคัญของผลกระทบทั้งหมดและคัดเลือกประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน 3 อันดับแรกที่อยู่ในระดับสำคัญมาก-สูงมาก จากการประเมินผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบสำหรับนำมารายงาน ซึ่งผลการประเมินฯ ได้ผ่านการทบทวนร่วมกับหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและเห็นชอบจากคณะกรรมการระดับจัดการและคณะกรรมการ ปตท. ได้แก่ คณะกรรมการจัดการการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยง และการกำกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร (Governance, Risk and Compliance Management Committee: GRCMC) และคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน (Corporate Governance and Sustainability Committee: CGSC) ตามลำดับ นอกจากนี้ จัดให้มีที่ปรึกษาและหน่วยงานภายนอกทวนสอบกระบวนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน เพื่อความครบถ้วน ถูกต้อง เชื่อถือได้และความโปร่งใส โดย ปตท. ได้พิจารณาข้อสังเกตจากที่ปรึกษาและหน่วยงานภายนอกมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

ดาวน์โหลดแบบ 56-1 One Report
ผลการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนปี 2565
GRI 3-2, GRI 3-3


จากการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของ ปตท. ประจำปี 2565 พบว่ามีประเด็นสำคัญฯในระดับมาก-สูงมากจำนวน 5 อันดับแรก ดังนี้

  • การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นประเด็นสำคัญอันดับที่หนึ่งเหมือนกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นวาระสำคัญระดับสากลที่ต้องใช้ความพยายามจากหลายภาคส่วน รวมถึงภาคธุรกิจเพื่อให้บรรลุไปสู่เป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ 
  • การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ธุรกิจ มีลำดับความสำคัญเพิ่มขึ้น สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. “Powering Life with Future Energy and Beyond” ในการขยายธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ปรับพอร์ทการลงทุน และมุ่งเน้นธุรกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งส่งผลให้ประเด็นนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มลำดับความสำคัญขึ้นมาอย่างชัดเจน ในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการ รองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่
  • อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ลำดับความสำคัญลดลง เนื่องจาก ปตท. สามารถบริหารจัดการวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ทำให้พนักงานและผู้รับเหมาที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้อง และได้รับความช่วยเหลือได้ทันท่วงที
  • องค์กรที่ดีต่อสังคม มีลำดับสูงขึ้น ตามที่สังคมชุมชนคาดหวังให้ ปตท. สนับสนุนความปลอดภัยด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และสร้างงาน สร้างรายได้ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากผลกระทบดังกล่าว






กลไกและวิธีการที่สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของ ปตท.

ปตท. เชื่อว่าการบริหารจัดการความยั่งยืนให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ และบรรลุเป้าหมายระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องบูรณาการประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนไปในการวางแผนกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจขององค์กรอย่างจริงจังและเป็นระบบ ด้วยกลไกและวิธีการ ดังต่อไปนี้


การประเมินมูลค่าที่แท้จริงขององค์กรจากผลการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน

ปตท. มีการประเมินมูลค่าที่แท้จริงขององค์กรจากผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบด้านความยั่งยืน เพื่อให้นักลงทุนได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลการดำเนินงานขององค์กรอย่างแท้จริง ที่สะท้อนถึงผลกระทบภายนอก (Externality)  ในเชิงบวกและเชิงลบจากการดำเนินงานขององค์กรในรูปแบบของมูลค่าทางการเงิน นอกจากนี้ยังทำให้บริษัทเห็นโอกาสในการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบทางลบและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การบริหารจัดการอย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถนำมาใช้ประกอบการวางแผนและพิจารณาตัดสินใจในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของบริษัทในอนาคตได้อีกด้วย

การประเมินมูลค่าที่แท้จริงด้านความยั่งยืนขององค์กรสามารถแบ่งเป็น 5 ขั้นตอนหลัก โดยที่ขอบเขตการประเมินฯครอบคลุมข้อมูลผลการการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ในแต่ละปี (ไม่รวมบริษัทในกลุ่ม ปตท.) ดังนี้

  1. ศึกษานโยบายและกลยุทธ์ขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความยั่งยืน
  2. เลือกประเด็นด้านความยั่งยืนที่สำคัญตามนโยบายและกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อกำหนดตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลกระทบทางตรงและทางอ้อมได้ รวมถึงการนำมาใช้ในการประเมินมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งตัวชี้วัดส่วนใหญ่มีการรวบรวมข้อมูลและรายงานในรายงานประจำปี 56-1 One Report ขององค์กรอย่างต่อเนื่อง
  3. รวบรวมข้อมูลตัวชี้วัด และตัวแปรมูลค่าของตัวชี้วัด (Valuation Factor) เพื่อวิเคราะห์หาผลกระทบเชิงบวกและลบ รวมถึงผลกระทบทางตรง และผลกระทบทางอ้อมที่เหมาะสม โดยพิจารณามิติด้านความยั่งยืนให้ครบทุกด้าน
  4. คำนวณมูลค่าผลกระทบด้านความยั่งยืนทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดขึ้นด้วยการนำข้อมูลเชิงปริมาณของผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน คูณกับตัวแปรมูลค่าของตัวชี้วัด
  5. รวมมูลค่าของตัวชี้วัดแต่ละด้านทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบ เพื่อคำนวณมูลค่าที่แท้จริงขององค์กร