การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน |
![]() |
ผลกระทบ ความเสี่ยงและโอกาส
ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจโดยยึดมั่นในจริยธรรมทางธุรกิจซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวองค์กรในด้านความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน อีกทั้งยังเป็นรากฐานของโอกาสในการพัฒนาและเติบโตขององค์กรในระดับสากลมากยิ่งขึ้น รวมถึงป้องกันประเด็นความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ทั้งในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในระยะยาวได้
วัตถุประสงค์/ เป้าหมาย
ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีพันธกิจในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างครบวงจรควบคู่ไปกับการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุลและยั่งยืน บนพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดี ยึดมั่นในจรรยาบรรณทางธุรกิจ โปร่งใส และตรวจสอบได้
เพื่อให้บรรลุพันธกิจข้างต้น ปตท. มุ่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน สู่ความเชื่อมั่นจากภายนอก ผ่านการสร้างวัฒนธรรม GRC (Governance Risk and Compliance หรือ การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร) ที่เข้มแข็ง และปฏิบัติงานสอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมทั้งหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจและแนวทางปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ด้วยเชื่อมั่นว่า หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการยึดมั่นในจรรยาบรรณทางธุรกิจเป็นระบบบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม สร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึงทำให้ ปตท. มีการจัดการที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และ ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของ ปตท. ให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”
ในปี 2567 ปตท. มีผลการดำเนินงานที่สำคัญด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและจรรยาบรรณทางธุรกิจ ดังนี้
- การประกาศใช้นโยบาย แนวปฏิบัติ และคู่มือ รวมทั้งพัฒนาระบบคัดกรองความเสี่ยงด้านมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและเศรษฐกิจ (Sanctions) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงการผลักดันนโยบายและแนวปฏิบัติให้บริษัทในกลุ่มตามแนวทางบริหารจัดการแบบกลุ่ม ปตท. (PTT Group Way of Conduct)
- การส่งเสริมพฤติกรรมด้าน GRC ผ่านการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมด้าน GRC ที่เชื่อมโยงกับ Competency ของพนักงาน จัดกิจกรรม GRC Forum โดยมีการเสวนาจากผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. และจัดทำ GRC Talk ในที่ประชุมคณะกรรมการจัดการของ ปตท. (PTTMC) รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น GRCxSPIRIT Boarding Game, การมอบรางวัล Risk Owner ดีเด่น, RM & IC Knowledge Awareness, การประชาสัมพันธ์พฤติกรรมหลักด้าน GRC ผ่าน PR ภายใน, GRC PODCAST และอื่นๆ
- การได้รับผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปี 2567 จากสำนักงาน ป.ป.ช. ในระดับผ่านดี ที่ 95.76 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 2.62)
- การได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 4
แนวทางการบริหารจัดการ
นโยบาย
นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร
ปตท. มุ่งมั่นในการบริหารจัดการองค์กรด้วยความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งทางธุรกิจ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ สร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ผ่านการบูรณาการร่วมกันของการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร จึงประกาศ นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร และกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลตามแนวคิดการบริหารจัดการ แบบ “Three Lines Model” โดยสามารถศึกษาโครงสร้าง GRC Framework ได้ในเว็บไซต์หัวข้อ การบริหารความเสี่ยงเเละภาวะวิกฤต
นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของ ปตท.
ปตท. จัดโครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการ และส่งเสริมให้บุคลากรยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และยึดมั่นในจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ปตท.ได้ประกาศใช้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท. และกำหนดคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. (Corporate Governance, Ethical Standards and Code of Business Ethics Handbook) หรือคู่มือ CG ที่สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในระดับประเทศและในระดับสากล เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานให้กับบุคลากรของ ปตท. โดยบุคลากรของ ปตท. ทุกคนต้องลงนามรับทราบและยึดถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาตรฐานทางจริยธรรม และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ ปตท. ได้กำหนดให้การปฏิบัติตามคู่มือ CG ซึ่งสอดคล้องตามค่านิยมองค์กรของ ปตท.เป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลงานประจำปีในด้านพฤติกรรมการปฏิบัติงาน (Behavior KPIs) ซึ่งมีผลต่อการประเมินค่าตอบแทนประจำปี หากพบการกระทำผิดหรือละเว้นการปฏิบัติตามคู่มือ CG จะถูกสอบสวนและลงโทษทางวินัยตามความเหมาะสม และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
นโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน
ปตท. ได้กำหนดนโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยมีการระบุนิยามของลักษณะการกระทำที่มีความเสี่ยงหรือเข้าข่ายว่าการทุจริต(Fraud) โดยหมายรวมถึงการกระทำต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อห้าม อาทิ เช่น การยักยอก (Asset Misappropriation), การฉ้อโกง (Embezzlement), การตกแต่งบัญชี (Financial Statement Fraud) และ การคอร์รัปชัน (Corruption)
ปตท. และกลุ่ม ปตท. ไม่ยอมรับการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ปตท. จึงกำหนดให้ กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง ตลอดจนบุคคลใด ๆ ที่กระทำการเพื่อประโยชน์ของ ปตท. หรือในนามของ ปตท. ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันของ ปตท. อย่างจริงจัง
นอกจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติหรือก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ขัดกัน และสอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ปตท. จึงกำหนด นโยบายงดรับของขวัญ และแนวปฏิบัติเรื่อง การรับ-ให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง หรือประโยชน์อื่นใด ความเป็นกลางทางการเมือง การไม่มีนโยบายสนับสนุนพรรคการเมืองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม การบริจาคเพื่อการกุศลและการให้เงินสนับสนุนของ ปตท. ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบของ ปตท. ตามรายละเอียดในคู่มือ CG เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีในการปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน
นโยบายการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ GRI2-27
ปตท. กำหนดนโยบายการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน (Compliance Policy) และแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลการปฏิบัติงาน (Compliance Framework) เพื่อให้บุคลากรของ ปตท. ยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้ถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานและ ปตท. ได้จัดทำกฎบัตรหน่วยงานกำกับกฎหมายและกฎระเบียบของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (Compliance Charter) ขึ้นเพื่อกำหนด อำนาจหน้าที่ และโครงสร้างของหน่วยงาน “ฝ่ายกำกับกฎหมายและกฎระเบียบองค์กร” ให้มีบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบในการเป็นศูนย์กลางการกำกับกฎหมายและกฎระเบียบองค์กร อาทิ การรวบรวมกฎหมาย กฎ ระเบียบ การประเมินความเสี่ยง การสนับสนุนหน่วยงานในองค์กรให้สามารถดำเนินการตามแนวทาง ที่กำหนด ตลอดจนการติดตาม สอบทาน และรายงานผลต่อผู้บริหารและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้องค์กรมีการดำเนินงานอย่างถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ
นอกจากนี้ ปตท. มีการบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานกำกับการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบเฉพาะทาง ในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานเฉพาะทาง รวมถึงการให้คำปรึกษา การสนับสนุน การกำกับและสอบทานการปฏิบัติงานของหน่วยงานผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้การดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ของ ปตท. เป็นไปอย่างถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบ และกรณีมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ ตลอดจนกระบวนการในการกำกับ หรือการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ภายใน ปตท. หน่วยงานผู้ปฏิบัติงานสามารถขอคำปรึกษา หรือส่งข้อหารือมายังสำนักที่ปรึกษากฎหมาย หรือฝ่ายกำกับกฎหมายและกฎระเบียบองค์กร หรือหน่วยงานกำกับการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบเฉพาะทาง ภายใน ปตท. ที่เกี่ยวข้องได้
นโยบายการร้องเรียน GRI2-26
ปตท. ประกาศใช้ข้อกำหนดบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย การร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริตต่อหน้าที่การประพฤติมิชอบและการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบองค์กร (Whistleblowing) และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนภายใต้กรอบระยะเวลาที่เหมาะสม ชัดเจน เสมอภาค โปร่งใส เป็นธรรม รักษาความลับ และคุ้มครองปกป้องผู้ร้องเรียนหรือพยาน โดยบุคลากรภายในและบุคคลภายนอกที่พบเห็นหรือทราบเบาะแสการละเมิดจริยธรรมและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการกระทำทุจริตและคอร์รัปชัน สามารถแจ้งข้อมูลการร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสได้ที่หน้าเว็บไซต์ ปตท. email: pttvoice@pttplc.com และจดหมายถึงกรรมการและผู้บริหาร ตามรายละเอียดในข้อกำหนดว่าด้วยการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริตฯ และคู่มือ CG ของ ปตท. ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกส่งไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด นอกจากนี้ ผู้ร้องเรียนสามารถติดตามสถานะของการจัดการกับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบแจ้งเรื่องร้องเรียน (Whistleblowing) โดย ปตท. มีการรายงานสถานะเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริตของ ปตท. ต่อฝ่ายจัดการและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ รายงานเป็นประจำทุกเดือน คณะกรรมการจัดการ การกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง การกำกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร และความยั่งยืน และคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน รายงานเป็นประจำทุกไตรมาส คณะกรรมการตรวจสอบ รายงานเป็นประจำทุกครึ่งปี เพื่อกำกับดูแลและติดตามการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริตให้เป็นไปตามข้อกำหนดบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย การร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริต การทุจริตต่อหน้าที่ การประพฤติมิชอบ และการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบองค์กร
ปตท. ได้ทบทวนและปรับปรุงข้อกำหนดฯ เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มีแนวทางในการกำกับดูแลและการสืบสวน/สอบสวนที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร อีกทั้งมีมาตรการคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ร้องเรียนหรือผู้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลแจ้งเบาะแสที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ ปตท. ได้เผยแพร่ข้อกำหนดว่าด้วยการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริตฯ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถศึกษารายละเอียดดังกล่าวได้
โครงสร้างการกำกับดูแล
ปตท. มีการกำกับดูแลตามกรอบแนวคิดตามมาตรฐานสากลด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร (Governance Risk and Compliance: GRC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานการปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมและยึดมั่นในจรรยาบรรณทางธุรกิจ โดยมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ในแต่ละระดับ ดังนี้
- ระดับการกำกับดูแล: คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน (CGSC) ทำหน้าที่มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารจัดการความเสี่ยงในระดับปฏิบัติการและการควบคุมภายใน การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร การต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน การบริหารจัดการความยั่งยืน และการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ บุคลากรของ ปตท. ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างจริงจัง และทำหน้าที่ทบทวนและอนุมัติแผนปฏิบัติการประจำปีเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ รวมทั้งดำเนินการต่าง ๆ ตามนโยบาย ผ่านการจัดกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบภายใต้หลักการปฏิบัติด้วยความเป็นธรรมและยึดมั่นในจรรยาบรรณทางธุรกิจให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำกับดูแลการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจและบริษัทย่อย ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบองค์กร
- ระดับจัดการ: คณะกรรมการจัดการการกำกับดูแล การบริหารความเสี่ยง การกำกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบองค์กร และความยั่งยืน (GRCMC) ทำหน้าที่กำกับดูแล ผลักดัน และส่งเสริมการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด โดยมีผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นประธาน และยังมอบหมายให้ ฝ่ายกำกับดูแลและส่งเสริมธรรมาภิบาลทำหน้าที่กำหนดแผนระยะยาวและแผนปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันของ ปตท. ประจำปี โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน และคณะกรรมการ ปตท.
การส่งเสริมวัฒนธรรมการปฏิบัติตามกฎหมาย (Compliance Culture)
ปตท. ส่งเสริมวัฒนธรรมในการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ (Compliance Culture) อย่างสม่ำเสมอ มีการจัดอบรมให้ความรู้กฎหมายทั้งรูปแบบ Class room และรูปแบบ E-learning การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบที่สำคัญกับการดำเนินธุรกิจของ ปตท. โดยในปี 2567 ได้มีการสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงแนวทางการประพฤติตนและปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบ แนวปฏิบัติสำหรับผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาในการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรด้านการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบ (Compliance Management Guideline) ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น อีเมลภายในองค์กร การจัดทำสรุปกฎหมายสำคัญในรูปแบบ Infographic คลิปวีดีโอสื่อความด้านมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและเศรษฐกิจ (Sanctions) ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมในการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบผ่านทาง Tone from the top โดยมีการจัด GRC Talk ในที่ประชุมผู้บริหาร และเน้นย้ำบทบาทสำคัญของผู้บริหารด้านการส่งเสริมส่งเสริมบรรยากาศด้าน Compliance Culture ผ่านการสื่อความ Compliance Management Guideline และมีการจัดทำ GRC Survey รายปี โดยมีหัวข้อเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ เป็นส่วนหนึ่งในแบบสอบถามดังกล่าว พร้อมทั้งนำผลมาจัดทำแผนงานในการพัฒนาปรับปรุงต่อไป
กระบวนการดำเนินงาน
การสร้างความเข้มแข็งจากภายในผ่านการส่งเสริมพฤติกรรมด้าน GRC
ปตท. มุ่งมั่นขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร (GRC) ที่สอดคล้องกับค่านิยมองค์กร SPIRIT ผ่านกลไกในการส่งเสริมวัฒนธรรมและพฤติกรรมด้าน GRC (PTT GRC People Centric Operating Model) ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางการส่งเสริมพฤติกรรมด้าน GRC ผ่าน 6 มิติ ได้แก่
- Leadership to Drive การส่งเสริมภาวะผู้นำด้าน GRC หรือการปฏิบัติตนเป็น Role Model
- Employee Participation การส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงพฤติกรรมด้าน GRC และนำไปใช้ในการปฏิบัติงานประจำวัน รวมถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรม GRC
- Communication to Drive การสื่อสารให้พนักงานมีพฤติกรรมด้าน GRC
- Learning Journey การพัฒนาทักษะและความรู้ด้าน GRC เพื่อสนับสนุนวัฒนธรรมการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- Tech Enablers การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้าน GRC
- Feedback and Evaluation การประเมินความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมด้าน GRC
การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ GRI2-15
ปตท. กำหนดให้บุคลากรของ ปตท. ต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่า ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยชน์ขัดกันในการปฏิบัติงานหรือไม่ โดยกำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับจัดทำแบบเปิดเผยรายการขัดแย้งทางผลประโยชน์ของ ปตท. เป็นประจำทุกปี และทุกครั้งที่พบรายการที่อาจเกี่ยวข้องกับการขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือรายการที่มีความเสี่ยง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพื่อกำหนดมาตรการและดำเนินการแก้ไขตามความเหมาะสม เช่น กำหนดมาตรการชั่วคราวโดยให้พนักงานที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์งดการปฏิบัติงานนั้น หรือการโยกย้าย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ปตท. ยังจัดให้มีการวิเคราะห์รายงานความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในกระบวนการจัดซื้อจนถึงการชำระเงิน (Procure-to-Pay) โดยใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง (Continuous Control Monitoring and Auditing System: CCMS) เพื่อตรวจสอบรายการที่อาจมีความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญ
การประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตและคอร์รัปชัน GRI 205-1
ปตท. ได้จัดทำคู่มือการบริหารความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดการของ ปตท. (PTTMC) และจัดให้มีการทบทวนให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปี เพื่อใช้สำหรับประกอบการประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตและคอร์รัปชันในกระบวนการปฏิบัติงาน (Process Level) เพื่อลดโอกาสและระดับผลกระทบที่บริษัทอาจจะได้รับจากความเสี่ยงที่เกิดจากการทุจริตและคอร์รัปชัน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคลในการป้องกันการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐของสำนักงาน ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2564 มาตรา 176 และแนวปฏิบัติที่ดีตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันของ ปตท. ในเรื่องการประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตและคอร์รัปชันในกระบวนการทำงาน เพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการควบคุมภายในได้อย่างเหมาะสม โดย ปตท. ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตและคอร์รัปชันตั้งแต่ปี 2560 โดยได้มีการขยายขอบเขตการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชันให้ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรในปี 2562 ผ่านการประเมินการควบคุมภายในตามแนวทาง GRC (GRC Assessment)
การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายใน
การควบคุมภายในและการจัดการความเสี่ยง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินงานของ ปตท. ว่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเชื่อถือได้ โดย ปตท. ให้ความสำคัญกับการประเมินการควบคุมภายในทั้งระดับองค์กรและระดับกระบวนการ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากลเรื่องการควบคุมภายใน และการประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ครอบคลุมประเด็นด้านการต่อต้านทุจริตคอรรัปชัน และการปฏิบัติตามจรรยาบรรณทางธุรกิจ ทั้งนี้ ปตท. ได้จัดทำสรุปการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการควบคุมภายใน เพื่อนำส่งหน่วยงานกำกับดูแลเป็นประจำทุกปี
การตรวจสอบและกำกับดูแลความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับบุคคลที่สาม (Third Party Screening Program)
ปตท. มุ่งยกระดับให้เป็นบริษัทที่ได้รับความไว้วางใจ (Trusted Company) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและการขยายธุรกิจของ ปตท. ที่ต้องมีการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับยึดมั่นการดำเนินการอย่างโปร่งใส ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี การต่อต้านทุจริตและคอร์รัปชัน การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เพียงพอเหมาะสม และการปฏิบัติติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ จึงจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบและกำกับดูแลความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับบุคคลที่สาม (Third Party Screening Program) เพื่อสร้างมาตรฐานในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าทำธุรกรรมกับ ปตท. ให้เป็นไปอย่างรัดกุม เหมาะสม มีการบริหารจัดการความเสี่ยงและระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ โดยได้ประกาศใช้หลักเกณฑ์และคู่มือการตรวจสอบและกำกับดูแลความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับบุคคลที่สาม ตามหลักเกณฑ์ต้องห้าม (Blacklist) และจัดให้มีระบบฐานข้อมูลสำหรับตรวจสอบความโปร่งใสฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสืบค้นข้อมูลที่จำเป็นในการประเมินความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว รวมถึงจัดตั้ง PTT GRC Advisory Team เพื่อให้คำปรึกษาการดำเนินงานตามกระบวนตรวจสอบความโปร่งใสฯ และในกรณีพบประเด็นหรือสัญญาณผิดปกติของบุคคลที่สาม (Incident Management)
การร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านการการกำกับดูแลกิจการและการต่อต้านคอร์รัปชัน
ปตท. ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะส่งเสริมให้เกิดการบริหารงานตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี มีธรรมาภิบาล และแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทย จึงได้ให้ความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนี้
- การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 51 แห่ง เพื่อประสานความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พร้อมขับเคลื่อนเรื่องธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาลในภาครัฐวิสาหกิจในทุกมิติ
- การประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action against Corruption: CAC) ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และการสนับสนุนจากรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และขอรับการรับรองการเป็นสมาชิก CAC (Certification Process) ที่พิจารณาจากการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล และมีกระบวนการทำงานที่มีการป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชันในทุกขั้นตอนทุก ๆ 3 ปี โดย ปตท. ได้รับรองการเป็นสมาชิก CAC ต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 4 ตั้งแต่ปี 2557 เป็นการตอกย้ำถึงการมีมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันที่เข้มแข็ง เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
ผลการดำเนินงาน
การสร้างความเข้มแข็งจากภายในผ่านการส่งเสริมพฤติกรรมด้าน GRC
จากกลไกในการส่งเสริมวัฒนธรรมและพฤติกรรมด้าน GRC (PTT GRC People Centric Operating Model) ในปี 2567 ปตท. มีการส่งเสริมพฤติกรรมด้าน GRC ทั้ง 6 มิติ ดังนี้
- Leadership to Drive เช่น กิจกรรม PTT Group CG Day 2024 เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์จาก CEO กลุ่ม ปตท. ในหัวข้อ การกำกับดูแลกิจการที่ดีในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง และกิจกรรม GRC Forum 2024 โดยมีการเสวนาของผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. ร่วมกับแขกรับเชิญภายนอก ในหัวข้อ Together with GRC & AI for Sustainability, การจัดให้มี GRC Talk ในที่ประชุมคณะกรรมการจัดการของ ปตท. (PTTMC) และที่ประชุมสายงาน, การสื่อความ Compliance Management Guideline เพื่อเน้นย้ำบทบาทสำคัญของผู้บริหารด้านการส่งเสริมส่งเสริมบรรยากาศด้าน Compliance Culture เป็นต้น
- Employee Participation เช่น กิจกรรม GRCxSPIRIT Boarding Game, การมอบรางวัล Risk Owner ดีเด่น, RM & IC Knowledge Awareness, การสนับสนุนเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ และวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล เป็นต้น
- Communication to Drive การสื่อสารผ่านชื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น CG Tips, Do-Don’t, GRC Behavior, GRC Lesson Learned, GRC Podcast, Sanctions Infographic, Sanctions VDO Clip เป็นต้น
- Learning Journey การพัฒนาทักษะและความรู้ด้าน GRC ผ่านการจัดหลักสูตรอบรมต่าง ๆ เช่น
- หลักสูตรการในการวินิจฉัยการลงโทษทางวินัยสำหรับผู้บริหารระดับสูง โดยผู้ทรงคุณวุฒิในกระบวนการวินิจฉัยและการลงโทษในรัฐวิสาหกิจ
- หลักสูตร RM&IC Knowledge Awareness โดยทีมงานฝ่ายควบคุมภายในและจัดการความเสี่ยง
- หลักสูตร PDPA Awareness: หลักการพื้นฐานด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
- หลักสูตรการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of Interest: COI) โดยวิทยากรจากสำนักงาน ป.ป.ช.
- หลักสูตร Introduction to ISO 37301:2021 Compliance Management Systems โดยวิทยากรจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ
(1) CG and Anti-Fraud and Corruption E-learning โดยมีเนื้อหาสอดคล้องกับคู่มือ CG ครอบคลุมแนวปฏิบัติที่ดีที่กำหนด เช่น การป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน เป็นต้น
(2) หลักสูตรเรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of Interest)
(3) หลักสูตรความรู้เบื้องต้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริหารและพนักงานเข้าเรียนรู้ด้วยตนเองในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง
- Tech Enablers การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้าน GRC
- Feedback and Evaluation เพื่อวัดผลความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมด้าน GRC พนักงานประจำปี และใช้เป็นหนึ่งในข้อมูลป้อนเข้าสำหรับการจัดทำแผนการดำเนินงานในปีถัดไป
นอกจากการสร้างความเข้มแข็งจากภายในผ่านการส่งเสริมพฤติกรรมด้าน GRC ปตท. ยังจัดให้มี
- การจัดฝึกอบรมและสื่อสารในกลุ่มกรรมการของ ปตท. เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน
- การจัดทำกิจกรรมสัมมนาผู้ค้าประจำปี เพื่อให้คู่ค้ารวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจของ ปตท. ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เพื่อส่งเสริมให้ห่วงโซ่อุปทานของ ปตท. ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส รวมถึงเชิญชวนผู้ค้า ปตท. ร่วมประกาศเจตนารมณ์และเข้าร่วมโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC)
การรับทราบคู่มือ CG ของพนักงาน (ร้อยละ)
ปี |
2564 |
2565 |
2566 |
2567 | |
---|---|---|---|---|---|
เป้าหมาย |
100 | 100 | 100 | 100 | |
ผลการดำเนินงาน | กรรมการ | 100 | 100 | 100 | 100 |
ผู้บริหาร | 100 | 100 | 100 | 100 | |
พนักงาน | 100 | 100 | 100 | 100 |
ความรู้ความเข้าใจด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ของพนักงาน (ร้อยละ)
![]() |
*ในปี 2567 มีการปรับปรุงคำถามที่ใช้วัดให้อยู่ในรูปแบบสถานการณ์สมมุติ (Scenario Based Question) และวัดผลผ่านการตัดสินใจของพนักงานในสถานการณ์ดังกล่าว
การรับรู้การดำเนินงานด้าน GRC (Self Awareness) ประจำปี 2567 ได้ผลประเมินเฉลี่ยร้อยละ 97.46
การรายงานความขัดแย้งของผลประโยชน์ของพนักงาน (ร้อยละ)
![]() |
การประเมินความเสี่ยงด้านทุจริตและคอร์รัปชัน
ในปี 2567 ปตท. จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชัน สำหรับหน่วยงานระดับฝ่ายและส่วนขึ้นตรง รวม 151 หน่วยงาน คิดเป็น 100% โดยเริ่มจากการกำหนดกระบวนการระดับฝ่ายหรือส่วนขึ้นตรง แบ่งเป็น กระบวนการหลัก (Core Process) ตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน และกระบวนการสนับสนุน (Support) ที่ทุกหน่วยงานต้องประเมิน ทั้งนี้ พบว่าผลคะแนนการควบคุมตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน (Fraud Risk) เท่ากับ 3.99 จากคะแนนเต็ม 4 มีกระบวนที่มีระดับความเสี่ยงสูงมาก 4 กระบวนการ ได้แก่ (1) การกำกับดูแลกิจการและการนำองค์กร (2) การดำเนินงานตามกฎหมายการประกอบกิจการ (3) การบริหารงานบัญชี (4)การบริหารงานกิจการเพื่อสังคม ซึ่งจากการพิจารณากระบวนการดังกล่าวพบว่ามีการควบคุมอยู่ในระดับที่เพียงพอเหมาะสม และมีการปฏิบัติตามมาตรการการควบคุมภายในอย่างสม่ำเสมอ แต่ยังคงความเสี่ยงในระดับที่มีผลกระทบสูงมาก เนื่องจากเป็นความเสี่ยงด้านชื่อเสียงภาพลักษณ์ขององค์กรและการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบจำนวนข้อร้องเรียนการปฏิบัติที่เป็นธรรม GRI 205-3, GRI 406-1 (กรณี)
ปี 2567 | |
---|---|
จำนวนข้อร้องเรียนที่ได้รับ | 11 |
กลั่นกรอง | 4 |
สืบสวนหาข้อเท็จจริง | 1 |
จำนวนการกระทำผิดจากการละเมิดจรรยาบรรณที่มีการสืบสวน/ สอบสวนแล้วเสร็จ | 0 |
ไม่มีมูลตามข้อร้องเรียน | 6 |
จำนวนข้อร้องเรียนกรณีการละเมิดจรรยาบรรณที่มีการสืบสวน/ สอบสวนแล้วเสร็จ | 0 |
ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับ | 0 |
การทุจริตคอร์รัปชัน หรือติดสินบน | 0 |
ละเมิดความเป็นส่วนตัว | 0 |
การเลือกปฏิบัติ | 0 |
ล่วงละเมิดทางเพศ | 0 |
ล่วงละเมิด | 0 |
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ | 0 |
การฟอกเงินหรือการใช้ข้อมูลภายใน | 0 |
อื่น ๆ | 0 |
หมายเหตุ
ข้อมูลจำนวนการกระทำผิดทางวินัยของพนักงาน สามารถพิจารณาได้ที่ คลิกที่นี่
ในปี 2567 ไม่พบเหตุฝ่าฝืนกฎข้อบังคับ (Non-Compliance) ที่มีผลกระทบหรือเกิดความรับผิดตามกฎหมายต่อ ปตท. อย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด และไม่ปรากฎการเสียค่าปรับ หรือ บทลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น
ข้อพิพาทกับคู่แข่งทางการค้า
คู่แข่งทางการค้าเป็นบุคคลภายนอกที่ ปตท. ต้องแข่งขันตามวิถีทุนนิยมเสรีในการทำธุรกิจ การแข่งขันย่อมต้องดำเนินไปอย่างเป็นธรรม ไม่บิดเบือนข้อมูล หลอกลวง หรือใช้วิธีอื่นใดที่ไม่ถูกต้องตามครรลองของการแข่งขันที่ดี โดยกำหนดแนวปฏิบัติที่ดีที่พึงปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้าไว้ในคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ทั้งนี้ ในปี 2567 ไม่ปรากฏข้อพิพาทฟ้องร้องระหว่าง ปตท. กับคู่แข่งทางการค้า
ผลการประเมินโดยหน่วยงานภายนอกและรางวัลที่เกี่ยวข้อง
ปตท. ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องเข้าร่วมการประเมินในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report of Thai Listed Companies: CGR) ซึ่งจัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นประจำทุกปี โดยในปี 2567 ปตท. ได้รับผลประเมิน CGR ในระดับ ดีเลิศ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ผ่านการยกระดับการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงประเด็นความยั่งยืน สอดคล้องตามแนวทาง 56-1 One Report ที่เน้นข้อมูลด้าน ESG รวมถึงสอดคล้องตามแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยแบ่งเกณฑ์การประเมินออกเป็น 4 หมวด ดังนี้
- สิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
- การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียและการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งรวมไปถึงการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน การประเมินความเสี่ยงและมาตรการจัดการความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชัน
- การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส ซึ่งพิจารณาจากการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับบริษัทได้แก่ สถานการณ์ทางการเงิน ผลการดำเนินงาน โครงสร้างการถือหุ้น และการกำกับดูแลกิจการ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา
- ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งรวมไปถึงการจัดให้มีผู้รับผิดชอบหรือหน่วยงานกำกับการปฏิบัติงาน (Compliance)
จำนวนข้อร้องเรียนการปฏิบัติที่เป็นธรรม GRI 205-3, GRI 406-1 (กรณี)
ปี |
2564 |
2565 |
2566 |
2567 |
---|---|---|---|---|
การดำเนินงานด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีและ การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันของ ปตท. |
รางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส | - | รางวัลชมเชยองค์กรโปร่งใส | - |
ระดับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (Integrity & Transparency Assessment: ITA) |
ระดับ A | ระดับ A | ระดับ ผ่านดี | ระดับ ผ่านดี |
Other assessments/awards | - | การประเมิน ASEAN CG Scorecard 2021 ได้รับรางวัล
|
- | - |
การทบทวนปรับปรุงที่สำคัญในรอบปีที่ผ่านมา
ปตท. กำหนดให้มีการทบทวนนโยบาย และแนวปฏิบัติด้าน การกำกับดูแลกิจการที่ดี การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน การบริหารจัดการความเสี่ยงในระดับปฏิบัติการและการควบคุมภายใน และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร เป็นประจำทุกปี โดยในปี 2567 ปตท. มีการทบทวนสาระสำคัญการปรับปรุง นโยบาย แนวปฏิบัติ และระบบการกำกับดูแลกิจการ ได้แก่
- การปรับปรุงนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบองค์กร ของ ปตท. (Governance Risk and Compliance Policy) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับฯ โดยเพิ่มเติมเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร
- การปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (Compliance Framework) เพื่อให้มีความชัดเจน เป็นปัจจุบัน และมีความคล่องตัวในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
- การปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบและกำกับดูแลความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับบุคคลที่สาม (Third Party Screening Program) ในกระบวนการลงทุนเพื่อความชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้จริง และปรับปรุงระบบการตรวจสอบข้อมูลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบุคลากร ปตท. ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าทำธุรกรรมกับ ปตท.
- การปรับปรุงคู่มือการตรวจสอบบุคคลที่สามเรื่องมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและเศรษฐกิจ (Sanctions Guidance) เพื่อให้การตรวจสอบคัดกรองมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและมีความเหมาะสมในทางปฏิบัติ รวมถึงมีความสอดคล้องกับแนวทางสากลที่มีการประกาศเพิ่มเติมในปี 2567
- การปรับปรุงคู่มือการบริหารความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยปรับปรุงเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงให้สอดคล้องกับเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงระดับองค์กร รวมทั้งวิธีการประเมินในระบบ Risk and Control Platform (RCP) ในปัจจุบัน
-
การกำกับดูแลความยั่งยืน
- กลยุทธ์ นโยบาย และการบริหารจัดการสู่ความยั่งยืน
- การกำกับดูแลและธรรมาภิบาล
- การปฏิบัติที่เป็นธรรม
- ระบบการบริหารจัดการด้านความมั่นคง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
- การบริหารความเสี่ยงเเละภาวะวิกฤต
- การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- เครือข่ายด้านความยั่งยืน
- การเปิดเผยข้อมูลและการประเมินผลด้านความยั่งยืน
- ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
- มิติด้านเศรษฐกิจ
- มิติด้านสิ่งแวดล้อม
- มิติด้านสังคม