การสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน |
![]() ![]() |
โอกาสและความท้าทาย
การยึดมั่นและปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัด เช่น หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หลักการและแนวทางกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนระบบการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Assessment Model : SE-AM) ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งได้ปรับปรุงตามพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมและบริบทในการดำเนินธุรกิจ การแข่งขันและนโยบายของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นความท้าทายที่สำคัญของคณะกรรมการ ปตท. ที่ต้องประยุกต์ใช้หลักการบริหารจัดการเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ในการรักษาความสมดุล ทั้งในฐานะรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียน
นอกจากนี้ ปตท. ยังมุ่งหวังที่จะเป็นองค์กรต้นแบบในด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี ด้วยเชื่อมั่นว่าหลักการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรม สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเป็นองค์กรที่ดำเนินงานอย่างซื่อสัตย์ สุจริตโปร่งใส และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เป้าหมายต่าง ๆ นี้ล้วนเป็นแรงผลักดันให้ ปตท. ต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันขององค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งต้องอาศัยการกำกับดูแลองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยคณะกรรมการ ปตท. ควบคู่กันไปด้วย จึงนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสและความท้าทายสำหรับ ปตท. ในการสรรหาคณะกรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทักษะวิชาชีพ และประสบการณ์ที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอย่างยั่งยืน
แนวทางการจัดการ
การกำกับดูแลกิจการที่ดีGRI102-27
ปตท. มุ่งมั่นประกอบธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน ด้วยระบบบริหารจัดการภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการอย่างมีจริยธรรม มีคุณธรรม มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ปตท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ข้อบังคับและระเบียบของบริษัทอย่างชัดเจนในคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาตรฐานทางจริยธรรม และจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ (คู่มือ CG) ซึ่งคู่มือ CG นี้จัดทำขึ้นเพื่อให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนยึดถือเป็นแนวทางในการทำงานและปฏิบัติหน้าที่ ครอบคลุมแนวทางการทำงานที่ดี ทั้งภายในกลุ่ม ปตท. และภายนอกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ โดยมีการทวนสอบและปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในปี 2564 ได้ดำเนินการสอบทานและปรับปรุงเนื้อหา เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีของบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้ประกาศใช้คู่มือ CG ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 5 เมื่อเดือนธันวาคม 2564
คณะกรรมการ ปตท.GRI102-19, GRI102-26, GRI102-28, GRI102-29, GRI102-30, GRI102-31
คณะกรรมการ ปตท. มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนกลยุทธ์ วิสัยทัศน์ นโยบายและการดำเนินงานที่สำคัญขององค์กร อาทิ อนุมัติแผนการดำเนินงานและงบประมาณประจำปี การกำหนดค่าตอบแทน การบริหารความเสี่ยง ซึ่งต้องพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการกำกับดูแล ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินงานของฝ่ายจัดการผ่านการรายงานผลการดำเนินการทั้งในส่วนที่เป็นตัวเงินและส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงิน ในที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. รายไตรมาส ตลอดจนติดตามการดำเนินงานของฝ่ายจัดการผ่านคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง 5 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร เพื่อช่วยกลั่นกรองงานที่มีความสำคัญอย่างรอบคอบ ขับเคลื่อนให้ดำเนินการตามกลยุทธ์และกรอบนโยบายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ ตลอดจนกำกับดูแลให้มีการดำเนินกิจการอย่างมีจริยธรรม ตามหลักธรรมมาภิบาล มีความโปร่งใส เที่ยงธรรม ตรวจสอบได้ ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุลและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นปตท. จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการเป็นประจำทุกปี ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ ปตท. โดยในปี 2564 มีการปรับปรุงแบบประเมินผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการ เพื่อให้ชัดเจนและครอบคลุมประเด็นในการประเมินผลการดำเนินงานตามเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Assessment Model : SE-AM) ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ดังนี้
- ปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อคำถามในแบบประเมินคณะกรรมการทั้งคณะในหัว ข้อการจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน และการติดตามรายงานทางการเงินและการดำเนินงาน การสร้างองค์กรที่มีความยั่งยืน
- ปรับปรุงแบบประเมินบทบาทหน้าที่และผลการปฏิบัติงานของประธานกรรมการ ความพึงพอใจการทำงานของคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง และประธานกรรมการเฉพาะเรื่องในแต่ละคณะ ในส่วนของหัวข้อความพึงพอใจการทำงานของคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง และประธานกรรมการเฉพาะเรื่องในแต่ละคณะ เพื่อให้สะท้อนการดำเนินงานของคณะกรรมการเฉพาะเรื่องว่ามีประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลตามหน้าที่ความรับผิดชอบ
คณะกรรมการสามารถใช้ข้อมูลที่ได้จากแบบประเมินนี้ในการพิจารณาทบทวนผลงาน ปัญหาและอุปสรรคในปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ปตท. ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีการเปิดเผยผลการประเมินไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/ รายงานประจำปี 2564 (แบบ 56-1 One Report) นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2560 คณะกรรมการได้นำตัวชี้วัดการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการฯ (KPI) มาวัดผลการดำเนินงาน เพื่อประกอบการพิจารณาค่าตอบแทนของกรรมการด้วย
คณะกรรมการ ปตท. ยังได้รับการประเมินการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการ โดยผู้ประเมินอิสระ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง เป็นประจำทุกปี และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) เป็นประจำทุก 2 ปี (หรือตามระยะเวลาที่ IOD กำหนด) ซึ่ง ปตท. ได้กำหนดนโยบายค่าตอบแทนกรรมการที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล และมีคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนเป็นผู้ทบทวน โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาระความรับผิดชอบของกรรมการ สถานะการเงินของบริษัท ผลการดำเนินงานของ ปตท. ตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (Performance Agreement: PA) และเปรียบเทียบกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน
การพิจารณาค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำปี 2564 จะพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ผลการดำเนินงานของ ปตท. ตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณนั้น ความสามารถในการบริหารจัดการและสภาวะผู้นำ และผลดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ ซึ่ง ปตท. กำหนดให้มีการเปิดเผยหลักเกณฑ์การพิจารณาค่าตอบแทนและค่าตอบแทนของกรรมการและผู้บริหารไว้ในรายงานประจำปี โดยผู้บริหารระดับสูงสุด หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีการเปิดเผยค่าตอบแทนไว้ชัดเจน ส่วนค่าตอบแทนกรรมการมีการเปิดเผยเป็นรายบุคคล และค่าตอบแทนผู้บริหารมีการเปิดเผยเป็นยอดรวม และมีการทวนสอบข้อมูลโดยผู้สอบบัญชีและกรรมการตรวจสอบของบริษัท เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้
ฝ่ายจัดการ (Management)
ฝ่ายจัดการมีหน้าที่ดำเนินกิจการและบริหารงานของบริษัทโดยรวม มีประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้บริหารสูงสุด มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารบริษัทตามแผนงานหรืองบประมาณตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท. อย่างเคร่งครัด ซื่อสัตย์ สุจริต รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นอย่างดีที่สุด ฝ่ายจัดการใช้อำนาจในการบริหารจัดการผ่านคณะกรรมการจัดการของ ปตท. (PTT Management Committee: PTTMC) และมีคณะกรรมการระดับจัดการชุดอื่น ๆ อีก 50 คณะ ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาและจัดการเรื่องภายในบริษัทให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
การพิจารณาค่าตอบแทนฝ่ายจัดการเป็นไปตามนโยบายและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ปตท. กำหนด ประกอบด้วยการพิจารณาผลการดำเนินงานของ ปตท. ตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ (SE-AM KPIs) กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง และตัวชี้วัดองค์กร (Corporate KPIs) ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลอย่างครบถ้วน โดยฝ่ายจัดการทุกระดับจะกำหนดตัวชี้วัดและตั้งเป้าหมายระดับกลุ่ม ปตท. ร่วมกันในแต่ละปี เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจและนำไปใช้ประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยในปี 2564 มีตัวชี้วัดที่เชื่อมโยงกับประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน ได้แก่ Eco-efficiency (GHG emission), Safety Management Effectiveness, Human Capital Index และ Non-Compliance
ค่าตอบแทนผู้บริหารGRI102-35
คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. (CEO) เสนอผลการปฏิบัติงานประจำปีต่อคณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนเพื่อพิจารณา จากนั้นคณะกรรมการจะกำหนดค่าตอบแทนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ตามผลการปฏิบัติงานทั้งทางด้านการเงิน และไม่ใช่ทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์เหล่านี้ถือเป็นข้อมูลที่ไม่เปิดเผย หลักเกณฑ์ในการประเมินผลการปฏิบัติงานถูกกำหนดให้ครอบคลุมเป้าหมายที่ท้าทายตามกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาวของบริษัท ซึ่งรวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีความเป็นอิสระในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้รัฐบาลไทย โดยใช้การรูปแบบการประเมินรัฐวิสาหกิจ (SE-AM) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจกำหนด ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังเพื่อติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของบริษัท ดังนั้น การประเมินค่าตอบแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ จะใช้ 3 เกณฑ์ คือ SE-AM KPI (35%) ผลการปฏิบัติงานตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่นำเสนอต่อคณะกรรมการ ปตท. (35%) และความสามารถในการบริหารจัดการและภาวะผู้นำ (30%)
ตัวชี้วัดผลตอบแทนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับค่าตอบแทนของ CEO คือ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (ROIC)
นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของ CEO ยังเน้นที่กลยุทธ์ 4R ได้แก่ Resilience, Restart, Reimagination, and Reform โดยเฉพาะ Resilience ที่ตอบโจทย์ การฝ่าวิกฤตและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและให้คำแนะนำในการดำเนินการแก้ไขทันที ผลักดันแนวทางลดและควบคุมต้นทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน รักษาสภาพคล่องและความแข็งแกร่งทางการเงิน/ อันดับเครดิตเทียบเท่าของประเทศ และการจัดหาเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการลงทุนในอนาคต
คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทนจะพิจารณาผลการดำเนินงานทางการเงินของกลุ่ม ปตท. โดยเปรียบเทียบ ROIC ของกลุ่ม ปตท. กับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยผลการประเมินประสิทธิภาพ ROIC สอดคล้องกับค่าตอบแทนของ CEO เพื่อให้มั่นใจว่าโครงสร้างค่าตอบแทนของ ปตท. มีความเหมาะสมและสามารถแข่งขันได้
ROIC of PTT Group : ปี 2560-2564
![]() |
ค่าตอบแทนรวมของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ปี 2564 (หน่วย : บาท)
ค่าตอบแทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ | ปี 2564 |
---|---|
จำนวนเงิน | |
ค่าตอบแทนรวม | 31,112,160 |
โบนัส | 9,671,211 |
รวม | 40,783,371 |
หมายเหตุ:
ค่าตอบแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในส่วนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่รวมค่าตอบแทนที่ ปตท. จ่ายให้เนื่องจากปฏิบัติงานเพิ่มเติม ได้แก่การเป็นประธานกรรมการ และหรือกรรมการบริษัทในกลุ่ม ปตท. ตามที่ได้รับมอบหมายโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาจ้างบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เรียบร้อยแล้ว
ค่าตอบแทนรวมของผู้บริหาร ปตท. ตามนิยาม ก.ล.ต. (จำนวน 4 ราย) ปี 2564 (หน่วย : บาท)
ค่าตอบแทน | ปี 2564 | |
---|---|---|
จำนวนราย ตามตำแหน่ง (ราย) | จำนวนเงิน (บาท) | |
เงินเดือนรวม | 33,499,680 | |
โบนัสรวม | 16,815,875 | |
รวม | 50,315,555 |
หมายเหตุ:
สัดส่วนค่าตอบแทนรวมของประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ต่อค่ากึ่งกลาง (Median) ของค่าตอบแทนพนักงานเท่ากับ 29.22 : 1
ผลการดำเนินงานที่สำคัญ
โครงสร้างคณะกรรมการ ปตท. เป็นระบบคณะกรรมการ 1 ระดับชั้น (One-Tier System) กล่าวคือคณะกรรมการบริษัท (Board of Directors) ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 15 คน ซึ่งในปัจจุบันมีกรรมการอิสระทั้งสิ้น 10 ท่าน และกรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหาร 4 ท่าน ทั้งนี้ ปตท. ได้กำหนดให้ประธานกรรมการ ไม่เป็นผู้บริหารของ ปตท. และเป็นคนละบุคคลกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ อันเป็นแนวปฏิบัติต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 เพื่อให้การดำเนินงานมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมถึงมีการเปิดเผยประวัติและรายละเอียดการดำรงตำแหน่งของกรรมการทุกรายในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี 2564 (แบบ 56-1 One Report) และเว็บไซต์ของ ปตท.
คณะกรรมการบริษัท จะผ่านกระบวนการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา โดยปัจจุบัน มีกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร ที่มีความรู้ หรือประสบการณ์เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงาน (Industry Experience ตามเกณฑ์ GICS Level 1) ทั้งสิ้น 7 ท่าน อย่างไรก็ตาม ปตท. ได้ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของคณะกรรมการ ไม่เพียงแต่คุณสมบัติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพที่จำเป็นต่อการบริหารกิจการของ ปตท. ได้อย่างสมดุล เช่น ผู้ที่มีความรู้ด้านธุรกิจพลังงาน/ปิโตรเลียม ด้านกฎหมาย/นิติศาสตร์ ด้านบัญชี/การเงิน เท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางด้าน สังคม เชื้อชาติ เพศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ซึ่งในปี 2564 มีกรรมการเพศหญิง 1 ท่าน ได้แก่ คุณเปรมฤทัย วินัยแพทย์ ทั้งนี้ กรรมการอยู่ในตำแหน่งโดยเฉลี่ยท่านละ 1.5 ปี
ในปี 2564 สัดส่วนของกรรมการ ปตท. ที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเฉลี่ยร้อยละ 94 ซึ่งเกินกว่าที่ ปตท. กำหนดสัดส่วนการเข้าร่วมประชุมกรรมการที่ร้อยละ 75