ธุรกิจ/ ผลิตภัณฑ์และบริการ

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

ธุรกิจ/ ผลิตภัณฑ์และบริการ

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท.  ประกอบด้วย ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก  และ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล มีความยาวรวม 4,255 กิโลเมตร (ข้อมูลณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561) ที่ต่อเชื่อมแหล่งก๊าซธรรมชาติต่าง ๆ ในอ่าวไทย สถานีแอลเอ็นจี และท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา เยตากุน และซอติก้า ในประเทศเมียนมา ที่ชายแดนไทย-เมียนมา เข้ากับผู้ผลิตไฟฟ้า โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และลูกค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ภายในระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ยังประกอบด้วย หน่วยควบคุมจุดกลั่นตัวของก๊าซธรรมชาติ (Dew Point Control Unit) และอุปกรณ์รวมก๊าซธรรมชาติ (Header) ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อควบคุมคุณภาพก๊าซธรรมชาติจากแหล่งต่าง ๆ ในอ่าวไทยให้มีค่าความร้อนคงที่ และมีคุณภาพเดียวกันทั้งระบบ

การวางท่อก๊าซธรรมชาติทุกเส้น ปตท. ดำเนินการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวด รักษาสิ่งแวดล้อม เน้นสวัสดิภาพ และทรัพย์สินของประชาชนเป็นสำคัญ


ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สาม ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
(Third Party Access Code: TPA Code of PTT Pipeline)

เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซบนบกแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code: TPA Code of PTT Pipeline) สำหรับผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ หรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่น สามารถใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติได้ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางปฏิบัติร่วมกัน




ประกาศอัตราค่าบริการขนส่งก๊าซทางท่อผ่านระบบส่งฯ ในส่วนของต้นทุนคงที่ (Td) รอบการกำกับดูแล 2565 - 2569


ประกาศอัตราค่าบริการขนส่งก๊าซทางท่อผ่านระบบส่งฯ ในส่วนของต้นทุนผันแปร (Tc) ประจำปี 2566




การบริหารจัดการตามเกณฑ์ TQA ของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท.

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติดำเนินการบริหารจัดการตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) จนกระทั่งได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือ TQA ประจำปี 2553 ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดที่สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติมอบให้แก่องค์กรที่มีระบบบริหารจัดการอย่างบูรณาการ เปี่ยมด้วยคุณภาพ และศักยภาพทัดเทียมมาตรฐานโลก​




การดำเนินงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

เพื่อให้การควบคุมและการบริหารงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด จึงได้มีการแบ่งความรับผิดชอบในการปฏิบัติงานสำหรับฝ่ายปฏิบัติการออกเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ภาค 1 ฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ภาค 2 ฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ภาค 3 และฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลท่อส่งก๊าซธรรมชาติครอบคลุมทั้งบนบกและในทะเล โดยมีศูนย์ปฏิบัติการหลักอยู่ที่ ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี

ศูนย์ปฏิบัติการชลบุรี เป็นศูนย์หลักในการดำเนินงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ควบคุมและวางแผนปฏิบัติการรับ-ส่งก๊าซธรรมชาติ จากผู้ผลิตสู่ลูกค้าตลอดแนวท่อทั้งหมดทั่วประเทศ สนับสนุนงานวิศวกรรมระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ดูแลควบคุมความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และดูแลสถานีควบคุมความดันและวัดปริมาตรก๊าซธรรมชาติ รวมถึงป้องกันและระงับเหตุฉุกเฉินของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ (SCADA) ผ่านระบบสื่อสาร อาทิ ระบบไมโครเวฟ เคเบิลใยแก้วนำแสง หรือระบบดาวเทียม


ขอบเขตความรับผิดชอบของการดำเนินงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย

  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 1 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 2 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครนายก ปทุมธานี และสระบุรี
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 3 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระยอง และชลบุรี
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 4 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่น
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 5 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม และนนทบุรี
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 6 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 7 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา และนครศรีธรรมราช
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 8 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 9 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการ
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 10 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก และปราจีนบุรี
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 11 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง
  • ส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 12 รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
  • ส่วนปฏิบัติการและบำรุงรักษาสถานีชายฝั่งรับผิดชอบควบคุมกระบวนการรับ-ส่งก๊าซ LNG ระบบการผสมก๊าซ รวมถึงระบบเพิ่มความดันก๊าซ เข้าสู่ระบบท่อประธานทุกเส้น ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระยอง
  • ฝ่ายปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล รับผิดชอบระบบท่อส่งก๊าซฯในทะเล แท่นพักท่อ Erawan Riser Platform (ERP) และแท่นพักท่อ PTT Riser Platform (PRP) ครอบคลุม พื้นที่จังหวัดปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง

หน้าที่หลัก 

  • ตรวจและบำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ASME B31.8
  • กำกับ ดูแล บำรุงรักษาสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ สถานีวัดปริมาณก๊าซธรรมชาติ ระบบเครื่องมือวัด และระบบควบคุมต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และสามารถส่งก๊าซธรรมชาติให้ลูกค้าได้อย่างถูกต้อง
  • ป้องกันและระงับเหตุฉุกเฉินของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ร่วมกับศูนย์ควบคุมเหตุฉุกเฉิน
  • ดูแลมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัยและการดูแลสิ่งแวดล้อม แก่ประชาชนในพื้นที่


ระบบควบคุมอัตโนมัติและระบบสื่อสาร

ระบบควบคุมอัตโนมัติ (Supervisory Control and Data Acquisition: SCADA) เป็นเทคโนโลยีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ออกแบบเพื่อใช้ในงานควบคุมการรับส่งก๊าซระยะทางไกล แบบ Real Time ครอบคลุมความยาวท่อ Transmission เพื่อให้การขนส่งก๊าซฯ จากจุดส่งมอบไปให้ลูกค้าได้ตรงเวลา คุณภาพก๊าซ ตรงตามความต้องการอย่างปลอดภัยและต่อเนื่อง ปัจจุบันมีศูนย์ควบคุมหลักอยู่ที่จังหวัดชลบุรี

​ระบบสื่อสาร ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ระบบทั้งหมดมีความมั่นคงสูงสุด ประกอบด้วย

  • ระบบใยแก้วนำแสง (Fiber Optic cable) วางฝังดินมากับแนวท่อส่งก๊าซฯ ปัจจุบันเป็นระบบสื่อสารหลักสามารถรองรับ Bit Rate ได้ 622 Mbps
  • ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม (Satellite Telecommunication) เป็นระบบที่ใช้ในการรับส่งข้อมูลระหว่าง แท่นผลิต กับศูนย์ควบคุม
  • ระบบวิทยุ UHF (Ultra High Frequency) และ VHF (Very High Frequency) สำหรับสนับสนุนการปฏิบัติงาน Operation ครอบคลุมพื้นที่ตลอดแนวท่อส่งก๊าซฯ
  • ระบบ 3G/4G ใช้ในการรับส่งข้อมูลระหว่าง RTU กับระบบ SCADA ของสถานีบริการ NGV และระบบ Automatic Meter Reading

สถานีควบคุมก๊าซ (Block Valve Station) สถานีควบคุมก๊าซแต่ละแห่งได้ติดตั้งอุปกรณ์ Remote Terminal Unit (RTU) และระบบสื่อสาร เพื่อต่อเชื่อมสัญญาณจากอุปกรณ์เครื่องมือวัด (Instrument) ในสนามกับศูนย์ควบคุม ทำให้การควบคุมและติดตามการรับส่งก๊าซฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย


ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงของท่อ (Pipeline Integrity Management System : PIMS)

ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงของท่อ ซึ่งนำมาใช้ในท่อส่งก๊าซฯ ประธานของ ปตท. เพื่อให้ท่อมีความปลอดภัย แข็งแรง และมั่นคงต่อการใช้งาน ตามที่ได้ถูกออกแบบไว้ตามมาตรฐานสากล ASME B31.8 ทำให้สามารถส่งก๊าซฯ ได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการของลูกค้า อายุท่อมีการใช้งานที่ยาวนาน และสามารถส่งก๊าซฯ ได้เต็มประสิทธิภาพ


ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS)

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Data) โดยข้อมูลลักษณะต่างๆ ในพื้นที่ที่ทำการศึกษาจะถูกนำมาจัดให้อยู่ในรูปแบบที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดและรายละเอียดของข้อมูลนั้นๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดตามต้องการ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เป็นระบบของคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และวิธีการที่ออกแบบมาเพื่อการจัดเก็บ การจัดการ การจัดทำ การวิเคราะห์ การทำแบบจำลอง และการแสดงข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการวางแผนงานที่ซับซ้อนและปัญหาในการจัดการ​